ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเศษแก้วปนในอาหาร – กำชับร้านอาหารปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เคร่งครัด

09 Sep 2019
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีมีผู้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุรับประทานอาหารที่ร้านอาหารย่านลาดพร้าว แล้วกัดโดนเศษแก้วที่ปะปนมาในอาหารจนได้รับบาดเจ็บในช่องปากมีเลือดไหลที่ลิ้นว่า สำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานเขตจตุจักร ลงพื้นที่ตรวจสอบ ร้าน ZEN Japanese Restaurant สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว จากการสอบถามทางร้านแจ้งว่า ผู้ร้องพบเศษแก้วในถ้วยไอศกรีม ซึ่งสำนักอนามัยได้ตรวจสอบสุขลักษณะทั่วไปของร้านดังกล่าว พบข้อบกพร่อง ประกอบด้วย ร้านดังกล่าวมีผู้สัมผัสอาหาร จำนวน 43 ราย แต่เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของ กทม. เพียง 9 ราย การจัดเก็บภาชนะและอุปกรณ์การทำความสะอาดภาชนะไม่เป็นระเบียบ พื้นห้องปรุง ประกอบอาหารมีคราบไขมัน อย่างไรก็ตาม สำนักอนามัยได้ดำเนินการควบคุมเฝ้าระวังด้านสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยกองสุขาภิบาลอาหาร มีหนังสือการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงสุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง แจ้งไปยัง 50 สำนักงานเขต เพื่อทราบและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการประเภทสถานที่จำหน่ายอาหารและประชาชนในเขตท้องที่ทราบ นอกจากนี้ ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหารตามกฎกระทรวงดังกล่าวและกฎหมายใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการทราบและปฏิบัติ

ด้าน นายอาฤทธิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตจตุจักรได้กำชับให้ร้านปฏิบัติตามเกณฑ์สุขลักษณะด้านสุขาภิบาลอาหาร รวมทั้งแนะนำให้มีกระบวนการตรวจสอบการให้บริการลูกค้าอย่างปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการปรุง ประกอบ จนถึงการเสิร์ฟอาหาร โดยหมั่นทำความสะอาดพื้นบริเวณปรุงและประกอบอาหารสม่ำเสมอ จัดเก็บภาชนะอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบและมีการปกปิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อน หมั่นตรวจสอบสภาพภาชนะอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานก่อนให้บริการลูกค้า จัดภาชนะเข้าเครื่องล้างให้เป็นระเบียบเพื่อป้องกันการแตก ชำรุด รวมทั้งตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องให้มีประสิทธิภาพ และกำชับให้พนักงานสังเกตสิ่งปลอมปนที่อาจมากับอาหารก่อนบริการลูกค้า ทั้งนี้ ได้มอบหมายฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ดำเนินการตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอาหารที่จำหน่ายให้มีความสะอาดและปลอดภัย โดยติดตามตรวจสอบกวดขันให้ร้านจำหน่ายอาหารปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวงสุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 ตลอดจนแจ้งผู้สัมผัสอาหารให้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารตามที่กฎหมายกำหนด