ทั้งนี้ เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปี ซึ่งในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเพิ่มยิ่งขึ้น ประเทศไทยในฐานะเป็นครัวของโลกที่มีการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออก จำเป็นต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้อยู่ในภาคการเกษตรต่อไป ดังนั้นจึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ธกส. และภาคเอกชน โดยเบื้องต้นให้การสนับสนุนเพิ่มเติมด้านทุนการศึกษา คนละ 50,000 บาท สำหรับนักศึกษาที่ได้รับประกาศเกียรติคุณจากโครงการฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างเต็มที่ และเพื่อให้พัฒนาต่อยอดผลงาน สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังจะส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนสร้างอาชีพ โดยสนับสนุนเงินกู้และพันธุ์โคให้เกษตรกร ซึ่งมีตลาดรับซื้อแล้ว โดยจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอเข้าครม. ต่อไป รวมถึงสนับสนุนปลูกถั่วเขียว เนื่องจากขณะนี้อเมริกามีความต้องการถั่วเขียวมากเพราะความนิยมบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ซึ่งมีความต้องการ 60,000 ตันต่อปี ประกันราคาที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 5 ปี
"กระทรวงเกษตรฯ ยินดีสนับสนุนและส่งเสริมสินค้าเกษตรให้กับผู้ค้า โดยต้องเน้นหาตลาดที่มีคุณภาพและการประกันราคาให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ หากนักศึกษาที่สนใจจะนำสินค้าเกษตรไปขายในช่องทางออนไลน์ ก็พร้อมสนับสนุน เพราะต้องการส่งเสริมการขายกับต่างประเทศด้วย อีกทั้ง ยังสนับสนุนอาชีพให้กับนักศึกษาที่เรียนจบ โดยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้เข้ามาช่วยทำงานด้านเกษตรร่วมกับกรมการข้าว เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนภาคเกษตรให้เข้มแข็งและก้าวผ่านความยากจน " นายประภัตร กล่าว
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการเกษตรเพื่อชีวิต "เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน" รุ่นที่ 5 ปี 2562 เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นมา โดยได้มีการคัดเลือก ตรวจติดตาม ส่งเสริมการนำมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ไปปฏิบัติใช้ในแปลงจนถึงการตัดสินการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งปีนี้มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเข้าร่วม จำนวน 18 วิทยาลัย ได้แก่ จังหวัดสงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สตูล กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี สระแก้ว ชลบุรี สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา มีโครงการที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมดจำนวน 60 โครงการ และได้ผ่านการคัดเลือกรอบตัดสิน จำนวน 35 โครงการ ทั้งนี้มุ่งหวังว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน ไปใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนและสังคมได้ เป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของประเทศ มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม ช่วยบรรเทาการขาดแคลนบุคลากรภาคการเกษตรในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการมาตรฐาน สอดรับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรฯ
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ชนะ การประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร และนางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มอบใบประกาศนียบัตรแก่อาจารย์และนักศึกษา ที่ร่วมโครงการเพื่อเป็นการยกย่องและให้กำลังใจแก่เยาวชนที่มีการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ในแปลงของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตในการพัฒนาประเทศต่อไป