สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบัน ChangeFusion และ สมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "สื่อท้องถิ่นกับการรับมือข่าวลวงและด้านมืดยุคดิจิทัล" ภายใต้ โครงการพัฒนากลไกการแก้ปัญหาข่าวลวงเพื่อสุขภาวะสังคมยุคดิจิทัล และร่วมประกาศ "ปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตก" หวังสร้างความตระหนักรู้ และสร้างบรรทัดฐานในการผลิตและนำเสนอข่าวและข่าวออนไลน์ที่ถูกต้องมีคุณภาพให้กับสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อต้านข่าวลวง (Fake News) ที่กำลังเป็นกระแสและสร้างความเสียหายในสังคมไทย ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ไดมอนด์ จ.เพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีสื่อมวลชนท้องถิ่นใน จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ข่าวลวงกำลังกลายวิวาทะระดับชาติ แต่ชาวบ้านยังรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัวเพราะเป็นการสู้กันของพรรคการเมือง แต่จากการลงพื้นที่พบว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบกับชาวบ้าน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ระดับชาติก็ทำไป แต่การแก้ปัญหาแบบศูนย์รวมอำนาจอาจไม่ตอบโจทย์ และการรับมือกับเรื่องออนไลน์ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ การแก้ปัญหาอย่างแท้จจริงต้องให้ประชาชนตื่นตัวในการรู้เท่าทัน และถ้าเราสามารถสร้างสื่อมวลชนท้องถิ่นที่มีจิตวิญญาณเสรีภาพและมีความรับผิดชอบให้ตื่นตัวได้ ก็จะช่วยกระจายเรื่องนี้ลงไปสู่ชุมชนรากหญ้า กระตุ้นให้ภาคประชาชนตื่นตัวในเรื่องด้านมืดออนไลน์ และรับมืออย่างมีสติในลักษณะพึ่งตนเองก่อน
"อีกเหตุผลคืออยากหาทางรอดให้สื่อชุมชนท้องถิ่น เพราะสุดท้ายในโลกของข้อมูลข่าวสาร คนที่มีคุณภาพจะอยู่ได้ แต่ต้องมีการสนับสนุนด้วย ซึ่งต้องไปสู่การเจรจาให้เสิร์จเอนจินกูเกิล และแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กและไลน์ หันมาความสำคัญกับข่าวที่มีการตรวจสอบแล้วว่านำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นความจริง โดยอาจทำเป็นโครงการ CSR ทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบ ปรับอัลกอริทึมการเข้าถึง หรือมีราคาพิเศษในการซื้อฟังก์ชันการใช้งาน ยืนยันว่าไม่ขัดขวางแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ แต่ขอให้ส่งอะไรกลับคืนมาให้สังคมไทยบ้าง ไม่ใช่แค่มารับผลประโยชน์ตักตวงเงินจากประเทศไทย แต่สังคมกลับได้ข่าวสารเนื้อหาที่เชื่อถือไม่ได้ โดยจะจัดเวทีหารือเรื่องดังกล่าวในปีหน้า" ผู้จัดการโครงการพัฒนากลไกการแก้ปัญหาข่าวลวงเพื่อสุขภาวะสังคมยุคดิจิทัล ระบุ นางสาวสุภิญญา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากสื่อท้องถิ่นแล้ว จะขยายเรื่องนี้ไปสู่กลุ่มผู้นำทางความคิดในชุมชนระดับรากหญ้า เช่น แกนนำเอ็นจีโอ แกนนำภาคประชาสังคม โดยจะไม่ใช่แค่ประเด็นข่าวลวงอย่างเดียว เพราะด้านมืดออนไลน์มาแล้ว และใน 5 ปีข้างหน้าจะรุนแรงมากขึ้นในทุกมิติ จึงจำเป็นต้องติดเครื่องมือติดอาวุธให้พลเมืองประชาชนรับมือให้ได้ หลังจากนี้จะจัดเวทีในลักษณะนี้อีก 3 ครั้ง ที่ จ.เชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี และที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดจังหวัดโมเดลต้นแบบ ที่จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หน่วยงานอื่นพูดเรื่องนี้มากขึ้น เช่น สสส.ที่มีเครือข่ายสุขภาวะทั่วประเทศ ต่อไปก็อาจผนวกเรื่องภัยออนไลน์เข้าไปด้วย หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ทางวิชาการก็ย่อมได้
"เราอยากช่วยพัฒนาให้สื่อทั้งท้องถิ่นและสื่อระดับชาติกลายเป็นสื่อคุณภาพ สนับสนุนให้เขาอยู่รอดได้และเป็นที่ยอมรับ โดยไม่ถูกกลืนหายไปกับเทคโนโลยี" นางสาวสุภิญญา กล่าว
นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ ในฐานะนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี กล่าวว่า ปัญหาข่าวลวง หรือ Fake News ในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะใน จ.เพชรบุรี หรือพื้นที่ใกล้เคียงยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะการทำข่าวในระดับท้องถิ่นของทางจังหวัด จะเน้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เกิดเหตุเป็นหลัก ร่วมมือร่วมใจกันรายงาน และไม่รับผลประโยชน์เบื้องหลัง แต่เป็นห่วงในแง่การทำข่าวระดับชาติ เนื่องจากทำวิชาชีพสื่อมา 30 ปี ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ที่ข่าวในยุคดิจิทัลจะสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้เสพข่าว ซึ่งข่าว 1 ข่าว นั้นสามารถฆ่าคนทั้งเป็นได้ทั่วโลกภายในไม่กี่นาที และยิ่งหากข่าวนั้นเป็นข่าวลวงผลกระทบที่ตามมาจึงสาหัสและขยายวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นทุกคน จึงเกิดคำถามว่าเราจะตั้งรับในเรื่องนี้กันอย่างไร จะเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์กันได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการกล่าวปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมภาคตะวันตกร่วมกันในวันนี้ โดยสื่อท้องถิ่นภาคตะวันตก สื่อภาคประชาชน เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายสร้างสุขภาวะ และสถาบันวิชาการในท้องถิ่น
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวถึงใจความของปฏิญญาว่า ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาข่าวลวงในโซเชียลมีเดีย พวกเราทุกคนจะรวมพลังกันเพื่อลดปัญหาข่าวลวงข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ตามกำลังและศักยภาพ เพื่อลดปัญหาข่าวลวง ดังนี้1.ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาควิชาการ เพื่อสร้างความตื่นตัว สนใจ ในข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกันทำงานเพื่อรับมือ ติดตาม ตรวจสอบ รายงาน เผยแพร่ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ และรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม
2.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร สื่อสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง ตั้งแต่เด็ก เยาวชน จนถึงผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาประชาชนไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)
3.พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงานและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม สามารถประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อและ 4. สนับสนุนการรวมพลังเพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มต่างๆ มีมาตรการในการลดการเกิดขึ้นของข่าวลวง ร่วมสกัดกั้นการแพร่กระจายของข่าวลวงอย่างรวดเร็ว
"สิ่งที่อยากเห็นคือการตั้งองค์กระระดับชาติน่าเชื่อถือได้ คอยช่วยตรวจสอบข่าวว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวง ขณะที่สื่อท้องถิ่นก็ต้องพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสำนักข่าวที่รายงานข่าวอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ ก็จะทำให้ประชาชนที่เสพข่าวสามารถรีเช็คข่าวบนโซเชียล ได้ที่เว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุนั้นๆ ได้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้แต่มีสิ่งที่ต้องคิดต่อไปว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้จักเว็บไซต์หรือโซเชียลของเรา" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จ.เพชรบุรี เผย
ขณะที่ นายสุวโรจน์ สร้อยสุวรรณ์ ผู้ผลิตเพจข่าวเพชรบุรี 24 ชั่วโมง สมาชิกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี กล่าวว่า อยากให้สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) เพิ่มโอกาสให้สื่อออนไลน์ท้องถิ่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแฟนเพจและประชาชนทั่วไปในการรับข่าวสารที่ถูกต้อง เนื่องจากแต่ละจังหวัดจะมีเพจข่าวสารออนไลน์เป็นที่นิยม 1-2 เพจ แต่ละเพจมีคนติดตามกว่าแสนคนขึ้นไป แต่ด้วยผู้สื่อข่าวและผู้ดูแลเพจมีน้อย บางเพจมีเกือบสิบคนยังเกิดความผิดพลาด แต่หลายเพจมีผู้ดูแลแค่ 2 คน ก็น่าเป็นห่วง
ด้าน ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีจรรยาบรรณสื่อกับสงครามข่าวสารในยุคดิจิทัลว่า เมื่อโซเชียลมีเดียทำให้ระบบนิเวศสื่อเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนสามารถรายงานข่าวสารได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น ขณะที่ข่าวสารได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการค้า สื่อมวลชนจึงต้องให้ความสำคัญกับ News Room Alert ให้มากขึ้น และคำว่ามืออาชีพต้องมาพร้อมกับจรรยาบรรณอาชีพ"ด้านมืดของยุคดิจิทัล สุดท้ายในฐานะของคนทำสื่อสิ่งแรกคือต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีและอคติของตัวเอง เพราะข่าวลวงเกิดขึ้นและกลายเป็นกระแสจากสองสิ่งนี้ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดถ้า Fake News หลุดออกจากมือคนข่าว ตรงนี้จะทำให้ Fake News ทำงานอย่างทรงประสิทธิภาพ เพราะสื่อขายความน่าเชื่อถือ คนที่แชร์เขาก็เชื่อถือเรา แล้วความเป็นคนข่าวในยุคดิจิทัลต้องเป็นอย่างไร แน่นอนว่าต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันความเป็นวารสารศาสตร์ก็ต้องตระหนักตรงนี้ด้วย เพราะในช่วงหลังๆ พบว่าการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าทำงานเป็นนักข่าวรุ่นใหม่ ส่วนมากหลงว่าต้องเท่าทันเทคโนโลยี แต่ความเป็นวารสารศาสตร์หรือแก่นของความเป็นนักข่าวมีหรือไม่ อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันตระหนักในจุดนี้" รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. แจงเพิ่ม
นายวิชัย สอนเรือง กรรมการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสื่อมวลชนออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แล้วส่วนมากแข่งกันที่ความไวโดยไม่ค่อยลงพื้นที่หรือเช็คความถูกต้อง ในการหยิบยกประเด็นในโซเชียลมาทำเป็นข่าวเผยแพร่ต่อประชาชน จนสร้างผลกระทบ และความเดือดร้อนแก่ผู้ตกเป็นข่าว หรือผู้นำสารในข่าวนั้นไปปฏิบัติใช้ สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องของประเด็นข่าวนั้นๆ ก่อนเผยแพร่ สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sonp .or.th และเช็คข่าวว่ามีการตรวจสอบข่าวนี้แล้วหรือไม่ กรณีมีข่าวดังกล่าวแล้วให้กดลิงก์ไปอ่านข่าวของสำนักข่าวที่มีการตรวจสอบ ถ้ายังไม่มีข่าวดังกล่าวให้ทำการแจ้ง ทางระบบจะส่งเรื่องไปให้สำนักข่าวตรวจสอบข่าวนั้น ๆ ด้วยการให้นักข่าวทำข่าว จากนั้นโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ตัวเองและแจ้งลิงก์มาทางแอดมิน แอดมินจะโพสต์ลิงก์บนเว็บสมาคม และแจ้งเพจสมาชิกให้ช่วยแชร์
"เร็วๆ นี้ทางสมาคมจะหารือกับเสิร์จเอนจินอย่างกูเกิล ว่าข่าวที่โพสต์ขึ้นหรือเสิร์จเจอจะต้องเป็นข่าวจริงเท่านั้น ซึ่งตรงนี้จะสำเร็จได้ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่นักข่าวด้วย" กรรมการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว ขณะที่ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ดำเนินรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" กล่าวว่า ในโลกอินเทอเน็ตข้อมูลเท็จจริงแต่ละอย่าง จะเข้าถึงประชาชนไม่เหมือนกัน ในเวลาที่ไม่เหมือนกัน รูปแบบสื่อในการเข้าถึงก็แตกต่างกัน และจะมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ข้อมูลเท็จที่ใส่ไปอินเทอเน็ตแล้วไม่หายออกไป แต่จะวนกลับมาเป็นที่รับรู้ตามฤดูกาล ดังนั้นวิธีที่รายการชัวร์ก่อนแชร์ทำ นอกจากเนื้อหาที่ถูกต้องแล้วจะใช้เรื่อง SEO เข้ามาช่วย โดยต้องมีคีย์เวิร์ดของข่าวสารเรื่องนั้นๆ มากพอที่จะสามารถค้นเจอเรื่องดังกล่าวในอนาคตได้ เพราะรู้สึกว่าข้อมูลที่ทำเสร็จในวันนี้ ไม่สามารถทำให้คนอ่านหรือรับรู้ได้พร้อมกันหมดได้ในเวลาเดียวกัน และข้อมูลจะมีค่ามากที่สุดเมื่อตอนที่ผู้รับสารต้องการเท่านั้น
"สิ่งที่สื่อควรให้ความสำคัญคือการจัดการบิ๊กดาต้า การเก็บข้อมูล การค้นคืนข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้สูงสุด ซึ่งจะเกิดแบบนี้ได้ต้องอาศัยการทำที่เยอะและจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คนในอนาคตมาค้นหาได้ และเอามาใช้พัฒนาต่อไป" นายพีรพล กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit