นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกษตร เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและช่วยขยายเศรษฐกิจด้านการส่งออก รวมทั้งก่อให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิตระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้มีการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่มุ่งเน้นพัฒนาภาคเกษตรไทยให้ก้าวไปสู่มหาอำนาจทางการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูงและขับเคลื่อนเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำการเกษตร
ทั้งนี้ กสอ. มีแนวคิดในการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3x 3 (3 เสริม 3 ทรานสฟอร์ม) คือ การใช้ 3 เครื่องมือ ในการเสริมแกร่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ขณะเดียวกัน ก็ใช้ 3 เครื่องมือในการบ่มเพาะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการทรานฟอร์มไปสู่ระดับต่าง ๆ ได้ โดยการเสริมแกร่ง ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมตลาดกลาง และการตลาดแบบเกษตรออนไลน์ เน้นการส่งเสริมราคามาตรฐาน ลดกลไกพ่อค้าคนกลาง 2) การพัฒนาต้นแบบรถแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเคลื่อนที่เน้นการแปรรูปสินค้าเกษตรเบื้องต้น เพื่อยืดอายุผลผลิต 150 ต้นแบบ โดยจะเข้าไปช่วยทดลองแปรรูปผลิตสินค้าให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะทำให้เกษตรกรเข้าใจและสนใจที่จะปรับตัวไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์มากขึ้น นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานผลผลิตนำไปสู่การแปรรูปเบื้องต้น 3) การพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรมเชื่อมโยง CIV และการท่องเที่ยว เน้นตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกลุ่ม OEM Marchandiser 100 กลุ่ม ขณะที่การทรานสฟอร์ม ประกอบด้วย 1) การปั้นนักธุรกิจเกษตร ด้วยการจัดการเกษตรอุตสาหกรรม เน้นทายาทเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ 15,000 คน 2) การพัฒนานวัตกรรมเกษตรแปรรูปด้วยศูนย์ ITC 4.0 เน้นกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร 5,000 ราย และ 3) บ่มเพาะผู้ประกอบการเกษตรกรแปรรูปพันธุ์ใหม่ (Agro Genius Academy) เน้นการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากสินค้า GI ในพื้นที่ต่าง ๆ เครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่
"แพลทฟอร์มการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3 x 3 เป็นแนวคิดในการใช้เกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยบริหารจัดการทรัพยากร ตั้งแต่คน วัตถุดิบ เครื่องจักร และกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพสูงตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนบริหารเครือข่ายธุรกิจภายใต้ Supply Chain ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่ง บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ถือเป็นบริษัทต้นแบบที่มีการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการดำเนินการรูปแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท "KC" โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง(CANNED) ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (POUCH) และข้าวโพดหวานแช่แข็ง(FROZEN) นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรอื่น ๆ ในกลุ่มสินค้าสุขภาพ อาทิ มันหวานเผา น้ำนมข้าวโพด เมื่อเร็วๆนี้ยังได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ "กะทิสำเร็จรูป" (coconut milk) และ "น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม" (coconut drink) ภายใต้แบรนด์ "KC" โดยมีกลุ่มลูกค้ากระจายอยู่มากกว่า 70 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสวิสเซอร์แลนด์ คิดเป็นร้อยละ 80 ของยอดขายทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นตลาดในประเทศ สำหรับวัตถุดิบหลัก คือ ข้าวโพดหวาน ทางบริษัทรับซื้อผลผลิตจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1) KC ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มของบริษัท มีจำนวน 20 กว่าไร่ 2) ฟาร์มของเกษตรกรที่ร่วมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า (Contract Farming) จำนวนกว่า 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและล่าง จำนวน 50,000 – 100,000 ไร่ต่อปี และ 3) โบรคเกอร์ หรือ การส่งเสริมตรง จะมีผู้ทำหน้าที่รวบรวมเกษตรกรเพื่อปลูกข้าวโพดป้อนบริษัท โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าไปตรวจสอบติดตามการเพาะปลูกร่วมกับโบรคเกอร์
ทั้งนี้ เพื่อคงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเข้ามาบริหารจัดการผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตร โดยริเริ่มดำเนินโครงการสมาร์ทฟาร์ม ที่ KC ฟาร์ม ตั้งแต่ปี 2555 ทั้งการจัดระบบน้ำ ให้น้ำแบบระบบน้ำหยด การให้ปุ๋ย วัดอุณหภูมิ ความชื้น ความร้อนและแสงแดด ซึ่งช่วยให้การเพาะปลูกมีความแม่นยำ มีคุณภาพ เพิ่มจำนวนผลผลิตให้มากขึ้นในแต่ละปี โดยจากข้อมูลพบว่าระบบสมาร์ทฟาร์ม สามารถเพิ่มผลผลิตร้อยละ 30-40 ต่อไร่ ซึ่ง KC ฟาร์ม ถือเป็นสมาร์ทฟาร์มต้นแบบที่ทำให้เกษตรกรเข้าใจและสามารถนำไปใช้ควบคู่กับภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ เกิดความยั่งยืนด้วยสินค้าที่มีคุณภาพที่ผู้บริโภคยอมรับ โดยมีการขยายระบบสมาร์ทฟาร์มไปยังฟาร์มของเกษตรกรที่ร่วมทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ปัจจุบันมีจำนวน 200 กว่าราย
"บริษัทฯ มีความมุ่งหวังที่อยากให้ธุรกิจนี้ เป็นประโยชน์กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร แรงงาน และพนักงาน ซึ่งตั้งเป้าจะขยายสมาร์ทฟาร์มให้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 – 15 ต่อปี แต่ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุนที่ค่อนข้างสูง จึงอยากให้กรมฯ เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนด้านนวัตกรรมที่เกษตรกรและชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้" นายองอาจ กล่าวทิ้งท้าย
HTML::image( HTML::image(