นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือเบโด้ (BEDO) กล่าวว่า "จากแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ เบโด้จึงได้ร่วมกับภาคีและกลุ่มเครือข่าย 16 หน่วยงาน จัด Road Show รณรงค์ขยายผลสร้างการรับรู้การดำเนินงานพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ ขับเคลื่อนโครงการ"ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept" คือ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ต่างๆ รวมทั้งไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ ซึ่งพื้นที่จะต้องไม่ตั้งอยู่ในเขตของกรมป่าไม้ และ กรมอุทยานแห่งขาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยส่งเสริมให้เจ้าของพื้นที่ปลูกพันธุ์กล้าไม้ที่มีความสมบูรณ์และเหมาะสมตามระบบภูมินิเวศ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการปลูกพืชทุกระดับชั้น ปลูกพืชพื้นล่าง อาทิ สมุนไพร ไม้ดอก ไม้หัว และพืชผักพื้นบ้านต่างๆ ให้สามารถเก็บกินเก็บขายได้ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนแหล่งพันธุกรรรมเพื่อการอนุรักษ์ ที่สำคัญคือ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในการเป็นแหล่งวัตถุดิบ เพื่อนำมาต่อยอดเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์และบริการตาม BEDO Concept ซึ่งมีหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การใช้ทรัพยากรชีวภาพชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบหลัก , การผลิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และการปันรายได้บางส่วนไปอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งหากโครงการนี้เกิดการขยายผลไปอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ นอกจากจะทำให้ชาวบ้านอยู่ดี กินดี และพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังก่อให้เกิดการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อเติมเต็มพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ร้อยละ 15 สอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย"
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเครือข่ายชุมชน"ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว" จากทั่วประเทศมาร่วมขับเคลื่อนโครงการ"ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept" และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้แก่กัน เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต
นายเพชรพรรณ จันทเกตุ สมาชิกเครือข่ายชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว จ.สกลนคร กล่าวว่า "ป่าครอบครัวเป็นอาชีพหนึ่งของเกษตรกรที่มีป่า เราไม่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราทำป่าโดยไม่ใช้สารเคมี เรามีรายได้จากการขายเห็ด ขายแมลง ขายสมุนไพรจากป่า ขายคาร์บอนเครดิต มีสมุนไพรรักษาโรคได้ และมีแหล่งอาหารตามฤดูกาล แต่ต้องดูแลไม่ให้เกิดไฟไหม้ 3 ปี สิ่งเหล่านี้ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และทุกคนในเครือข่ายป่าครอบครัว 18 อำเภอ อยู่รอดกันทุกคน ไม่มีปัญหาหนี้สิน"
นายอภินันต์ หมัดหลี เครือข่ายป่าครอบครัว จ.สงขลา กล่าวว่า"การขับเคลื่อนโครงการไม้มีค่า-ป่าครอบครัว เราเริ่มทำจากตัวเองก่อน ปลูกอะไรที่เรากินได้ แล้วปลูกไม้มีค่า เช่น ไม้ยางนา ตะเคียน จำปา โดยทำการเกษตรธรรมชาติธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ปลูกต้นไม้ 3 ต้น ในหลุมเดียวกัน ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ใช้การบำบัดด้วยธรรมชาติ พร้อมจัดทำหลักสูตรปลูกพืช 12 ระดับ ทำให้เราได้ป่าที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อเราเริ่มต้นทำแล้วเราพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้ มีแหล่งอาหาร ก็จุดประกายให้คนอื่นๆมาร่วมเครือข่ายกัน"
นายสมาน เสถียรบุตร เครือข่ายป่าครอบครัว จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า "ผมทำเกษตรแบบอนุรักษ์พันธุ์ไม้ผลเก่าๆไว้ ถ้ามีผลผลิตเหลือถึงจะขาย เมื่อเบโด้มาแนะนำเรื่องไม้มีค่า จึงได้ปลูกไม้ป่าเสริม พอเราทำแล้วเริ่มมีไก่ป่า มีกระต่ายอาศัย ชาวบ้านก็ทำตาม แต่ก่อนปลูกไม้ผล ต้องสิ้นเปลืองกับยาฆ่าแมลง การใช้ปุ๋ยเคมี พอมีโครงการไม้มีค่า ป่าครอบครัว ป่าก็มีความร่มรื่นตามมา ตอนนี้มีเครือข่ายกว่า 10 ครัวเรือนแล้ว ก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด"
ปัจจุบันได้เกิดพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ "ชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัว" จำนวน 2,431 ชุมชน แบ่งเป็นภาคเหนือ 828 ชุมชน ภาคกลาง 82 ชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 830 ชุมชน ภาคตะวันออก 157 ชุมชน ภาคตะวันตก 258 ชุมชน ภาคใต้ 258 ชุมชน คิดเป็นจำนวน 119,538 ไร่"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit