ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ในช่วงฤดูฝนและช่วงน้ำหลากทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยมีความเป็นห่วงประชาชนทั่วประเทศในการเฝ้าระวัง ไข้เดงกี (dengue fever) และไข้เลือดออก (dengue hemorrhage fever) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มี 4 สายพันธุ์นำโรค โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายนี้จะกัดคนที่ป่วยเป็นโรคและไปกัดคนอื่น ๆ ทำให้เกิดโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออก
จากรายงานพบว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่อายุ 15-25 ปีเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย อินเดีย และสิงค์โปร์ ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้เดงกีและไข้เลือดออกแม้ว่าจะพบเพียงร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ในปีที่มีการระบาดของโรคก็จะมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากได้ ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีทำให้ป่วยเป็นไข้เดงกีและไข้เลือดออกมักมีอาการที่ไม่รุนแรงเหมือนในผู้ป่วยเด็ก วัยรุ่น ผู้ป่วยผู้ใหญ่บางรายอาจมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวและอาการหายเองได้โดยไม่ได้รับการวินิจฉัย อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ที่มีการติดเชื้อบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น ไข้สูง ปวดตามกล้ามเนื้อมาก บางรายอาจมีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อกร่วมด้วย พบว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตมักพบว่ามีอาการที่สำคัญ คือ ภาวะช็อก เลือดออกรุนแรง ตับวาย ไตวายและไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างจากที่พบโดยทั่วไป เช่น อาการปวดท้องตั้งแต่ระยะแรก อาการชัก อาจทำให้แพทย์ไม่ได้คิดถึงโรคนี้หรือไม่ได้ส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเป็นไข้เด็งกี (ซึ่งในผู้ใหญ่พบได้บ่อยกว่าการป่วยเป็นไข้เลือดออก) มักพบว่ามีไข้สูง ปวดเมื่อย ปวดกระดูก ปวดศีรษะ มักไม่พบมีอาการไอหรือมีน้ำมูก อาการเจ็บคอพบได้บ้าง มักพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้บ่อย ผู้ป่วยมักมีไข้ประมาณ 5 ถึง 7 วันและพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีไข้น้อยกว่า 9 วัน การมีผื่นแบบจุดเลือดออกโดยเฉพาะที่ขา แขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วยมักพบในช่วง 1-2 วันก่อนที่ไข้จะลดลงหรือผื่นอาจเกิดหลังจากไข้ลดลงแล้ว ผู้ป่วยไข้เดงกีอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติได้ แต่มักไม่รุนแรง พบว่าการใช้อาการทางคลินิกดังกล่าวร่วมกับการตรวจพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือเกร็ดเลือดต่ำ และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเป็นไข้เลือดออก มักมีไข้สูง อาเจียน และมีเลือดออกผิดปกติ ภาวะเลือดออกมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีเกร็ดเลือดต่ำซึ่งภาวะเลือดออกมักพบในช่วงวันที่ 5-8 ของการมีไข้ ผิวหนังเป็นจุดเลือดออกเป็นภาวะเลือดออกในผู้ป่วยที่พบบ่อยที่สุด โดยมักพบบริเวณแขน ขา รักแร้และลำตัว เลือดออกผิดปกติในตำแหน่งอื่นๆในผู้ป่วยที่พบได้แก่ เลือดออกจากจมูก ผู้หญิงบางรายมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด พบว่าในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกรุนแรง มักพบว่ามีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือมีเลือดออกในอวัยวะภายในเช่น เลือดออกในช่องท้อง ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมีการรั่วของของน้ำเลือดไปในช่องปอด ช่องท้องมักพบในช่วง 5-7 วันหลังมีไข้ ทำให้มีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น บางรายมีน้ำในช่องปอดหรือมีน้ำในช่องท้องทำให้หายใจลำบาก ตับโต ปวดท้อง กดเจ็บที่ท้อง เหนื่อยหอบ ปัสสาวะลดลง และทำให้ผู้ป่วยบางรายมีภาวะความดันโลหิตต่ำลงจนเกิดภาวะช็อก ซึมลง หายใจล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการ อาเจียนรุนแรง ผู้ป่วยซึมหรืออ่อนเพลียมาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง กระหายน้ำตลอดเวลา กระสับกระส่าย ตัวเย็นชื้น ปวดท้องมาก มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
ปัจจุบันไม่มียาจำเพาะในการรักษาการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ดังนั้นการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่และการให้สารน้ำและการรักษาตามอาการเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเดงกี ในกรณีที่ผู้ป่วยมีคลื่นไส้อาเจียน ไม่สามารถดื่มน้ำได้ ให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่น้ำเปล่าอย่างเดียว อาหารควรเป็นอาหารอ่อน แพทย์อาจพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแก่ผู้ป่วยโดยการอาศัยการประเมินอาการและติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปริมาณสารน้ำที่ให้ผู้ป่วยในระยะที่มีการรั่วของน้ำเลือด ผู้ป่วยที่มีไข้ให้ทำการเช็ดตัวลดไข้ อาจเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อยๆ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำแล้วบิดพอหมาดๆ ลูบเบาๆบริเวณหน้า ลำตัว แขน และขา แล้วพักไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ แผ่นอก แผ่นหลัง และขาหนีบ ทำติดต่อกันอย่างน้อยนาน 15 นาที ในกรณีที่มีไข้สูงสามารถพิจารณาให้ยาลดไข้เช่น ยาพาราเซตตามอล ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นโดยเฉพาะยาแอสไพริน อย่างไรก็ตามยาลดไข้จะช่วยให้ไข้ลดลงชั่วคราวเท่านั้นเมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วไข้ก็จะสูงขึ้นอีก พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายมีภาวะตับอักเสบร่วมกับมีอาการคลื่นไส้/อาเจียนซึ่งมักพบในช่วง 5-7 วันหลังมีไข้ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ยาซึ่งมีผลทำให้เกิดตับอักเสบมากขึ้นโดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยรับประทานยาพาราเซตตามอลเพื่อลดไข้ในขนาดสูงและบ่อยเป็นเวลานาน (5-7 วัน) ติดต่อกัน รวมทั้งการได้รับยาอื่นๆที่มีผลต่อตับเช่น ยาแก้อาเจียนบางชนิด ยาป้องกันชัก ยาปฏิชีวนะบางชนิด ที่อาจมีผลทำให้ผู้ป่วยมีตับอักเสบรุนแรงได้
การป้องกันโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออก คือ ไม่ให้ยุงกัดและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดโรค เช่นควรนอนในมุ้งหรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน กำจัดยุงด้วยการพ่นสารเคมีในบริเวณมุมอับภายในบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านปิดฝาให้มิดชิด ถ้าไม่สามารถปิดได้ให้ใส่ทรายอะเบทหรือใส่ปลาหางนกยูง ไม่ให้มีวัสดุที่เหลือใช้รอบๆบ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีมาอย่างต่อเนื่อง วัคซีนป้องกันการติดเชื้อมีความก้าวหน้าไปจนถึงการทดสอบในระยะที่ 3 พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี และมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ อย่างไรก็ตามวัคซีนดังกล่าวยังไม่มีการผลิตเพื่อใช้สำหรับประชาชนทั่วไป
HTML::image( HTML::image(