ทั้งนี้ งานตัดสินการแข่งขันระดับประเทศได้รับเกียรติจาก รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้สนับสนุนการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2562 (WRO2019: WORLD ROBOT OLYMPIAD 2019) โดยมีนักเรียนจาก "โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า" (KMIDS) ภายใต้การกำกับดูแลของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยทีมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชื่อทีม "KMIDS_Quixotic" สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ ในประเภทความคิดสร้างสรรค์ รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี (Open Category "Senior") ด้วยการพัฒนาโมเดล "แทร็คกิ้งอัจฉริยะ" ระบบติดตามเฟอร์นิเจอร์หรือวัตถุภายในบ้านอย่าง โต๊ะ เก้าอี้ และอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย ให้สามารถติดตามและจัดระเบียบเฟอร์นิเจอร์ให้เข้าที่ หรือเลือกเคลื่อนย้ายให้อยู่ในโลเคชั่นที่กำหนด เพียงควบคุมและสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน
นอกจากนี้ ยังมีทีมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก KMIDS ได้รับรางวัลในประเภทอื่นๆ คือทีม "Organergy" และ "G-Robosorter" ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 และ 3 ในประเภทความคิดสร้างสรรค์ รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี (Open Category "Junior") ตามลำดับ และทีม "COLDCHAN" ที่ได้รับรางวัลประเภทความคิดสร้างสรรค์ รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี (Open Category "Senior") โดยในอนาคต สจล. เตรียมพัฒนาหลักสูตร และบุคลากรให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมและบ่มเพาะนักเรียน KMIDS รุ่นต่อไปให้สามารถก้าวสู่การแข่งขันบนเวทีแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศ และนานาชาติได้ในอนาคต ผ่านการฝึกกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ การเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อัตโนมัติ ตลอดจนสามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้สามารถใช้งานได้จริง สู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมไทยในหลากมิติ ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ กล่าว
ทั้งนี้ "โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่พร้อมด้วยหลักสูตรนานาชาติที่มุ่งเน้นการสร้างนักนวัตกรรมด้วยมาตรฐานระดับโลก อาทิ หลักสูตร STEAM หลักสูตร STEM With ROBOTICS อีกทั้งมีห้องเรียนยุคใหม่ที่ช่วยสนับสนุนให้เยาวชนไทย ก้าวสู่โลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงบันดาลใจและนวัตกรรม อาทิ ห้อง Lab มาตรฐานระดับสากล และห้องเรียนหุ่นยนต์ (STEM WITH ROBOTICS CLASS) เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝังจิตวิญญาณและความสามารถ ให้เด็กเหล่านี้เก่งตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมได้อย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนมีความคิดที่เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
นายเชาวนนท์ ศรีศิลป นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS) ตัวแทนทีม KMIDS_Quixotic กล่าวว่า ตนและเพื่อนร่วมทีมรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทความคิดสร้างสรรค์ รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี (Open Category "Senior") รางวัลสูงสุดในการแข่งขันประเภทดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ตนและเพื่อนจะไม่ได้รางวัลนี้ หากปราศจากการช่วยเหลือและสนับสนุนจากคณาจารย์ KMIDS ในแง่มุมต่างๆ ทั้งการฝึกคิดตั้งโจทย์ปัญหา การทดลองป้อนโปรแกรมหุ่นยนต์ให้สามารถเคลื่อนไหวในหลากอิริยาบถโดยอัตโนมัติ และการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีรูปลักษณ์แบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้ตนจะตั้งใจฝึกซ้อมและพัฒนาโปรแกรมหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ ให้สมกับการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ บนเวทีนานาชาติ ณ เมืองเยอร์ ประเทศฮังการี ในเดือนพฤศจิกายน 2562
ด้าน ดร. นวลวรรณ ชะอุ่ม ประธานโครงการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ และ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัทแกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด (GAMMACO) กล่าวเสริมว่า แกมมาโก้ ในฐานะผู้นำด้านการขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ ประจำปี 2562 ได้จับมือหน่วยงานรัฐและภาคการศึกษาอย่าง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สถาบันการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดเวทีแข่งขัน "การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย" ประจำปี พ.ศ. 2562 ในหัวข้อ "สมาร์ท ซิตี้" (SMART CITIES) ภายใต้โครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ ประจำปี 2562 (WRO2019: WORLD ROBOT OLYMPIAD 2019) เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย ในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่า ให้มีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ สู่การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยในปีนี้ มีเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย แข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ณ เมืองเยอร์ ประเทศฮังการี ในเดือนพฤศจิกายน 2562 รวม 18 ทีม ประกอบด้วย ประเภททั่วไป 9 ทีม ประเภทความคิดสร้างสรรค์ 3 ทีม ประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอล 3 ทีม และ ประเภททั่วไประดับมหาวิทยาลัย 3 ทีม
สำหรับพิธีการแข่งขันการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ รอบชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2562 (WRO2019: WORLD ROBOT OLYMPIAD 2019) ภายใต้โครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ ประจำปี 2562 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจาก รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิด ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th และ www.facebook.com/kmitlofficial
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit