Double Dot QA จากงานวิจัยสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โชว์ผลงาน อุปกรณ์ตรวจสอบมุมการฉายรังสีรักษามะเร็ง พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์

24 Sep 2019
เมื่อเร็วๆนี้ ณ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดงานประชุมวิชาการ International Symposium on Technology Trends in Radiation Therapy (TTRT 2019) เพื่อเผยแพร่ความรู้รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการใช้เทคโนโลยีรังสีรักษาทางการแพทย์ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยภายในงานมีการบรรยายทางวิชาการจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ คอร์สฝึกอบรมด้านการเขียนโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในงานรังสีรักษา การจัดแสดงเครื่องมือและผลงานวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน งานนี้เป็นครั้งแรกที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้นำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า "Double Dot QA" ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากผลงานวิจัยของ อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ วิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมตัวแรกที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
Double Dot QA จากงานวิจัยสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โชว์ผลงาน อุปกรณ์ตรวจสอบมุมการฉายรังสีรักษามะเร็ง พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์

จากโจทย์การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องเร่งอนุภาคหรือเครื่องฉายรังสี ที่ปล่อยพลังงานรังสีความเข้มสูงมาทำลายเซลล์มะเร็งจากภายนอก ในปัจจุบันเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่นั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีความจำเป็นในการใช้เครื่องมือประกันคุณภาพที่มีประสิทธิภาพสูงตาม นวัตกรรม Double Dot QA เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แนวคิดการประมวลผลภาพแทนการติดเซนเซอร์ที่หัวฉายรังสี ทำให้การวิเคราะห์มุมการฉายรังสีมีความแม่นยำและละเอียดมากขึ้น อีกทั้งตอบโจทย์การใช้งานของนักฟิสิกส์การแพทย์ในการประกันคุณภาพเครื่องเร่งอนุภาค โดยเฉพาะการตรวจสอบความแม่นยำของมุมการฉายรังสีในเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่

อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด กล่าวว่า "นวัตกรรม Double Dot QA (ดับเบิ้ลดอทคิวเอ) เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อตรวจสอบความแม่นยำมุมการฉายรังสีรอบตัวผู้ป่วยมะเร็งของเครื่องเร่งอนุภาคในงานรังสีรักษา โดยในการฉายรังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งนั้น ความแม่นยำของมุมการฉายนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และนักฟิสิกส์การแพทย์ได้ทำการประกันคุณภาพมุมอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ อุปกรณ์มาตรฐานวัดความเอียง (Inclinometer) ซึ่งพบว่า ความสามารถไม่เพียงพอต่อการประกันคุณภาพมุมของเครื่องเร่งอนุภาครังสี สำหรับการฉายเทคนิคใหม่ อาทิเช่น Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT) นวัตกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ๓ หน่วยงานหลัก คือ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์

เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลียที่ร่วมสนับสนุนผลักดันผลงานวิจัย และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สนับสนุนทุนต่อยอดจากงานวิจัยสู่การผลิตอุปกรณ์ต้นแบบพร้อมทดสอบเพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดจำหน่าย อุปกรณ์ดังกล่าวอาศัยแนวคิดสำคัญ คือ"การวัดมุมจากจุดสองจุดผ่านตัวรับภาพแบบเรียลไทม์" ที่มีความสามารถในการวัดมุมหัวฉายรังสีแบบต่อเนื่อง (Dynamic mode) ด้วยความละเอียดสูงสุด ๐.๐๐๑ องศา ทำงานด้วยความเร็ว ๓๐ Hz (วัดมุมได้ ๓๐ มุมต่อหนึ่งวินาที) โดยมีหลักการทำงานที่ง่ายใช้เวลาในการติดตั้งอุปกรณ์น้อยกว่า ๑ นาที จากเดิมที่ใช้เวลา ๒๐ - ๓๐ นาทีในการติดตั้ง และมีความสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับปริมาณรังสี ทำให้การประกันคุณภาพมุมฉายรังสีผ่านอุปกรณ์ Double Dot QA สามารถเริ่มวัดมุมการฉายรังสีได้โดยอัตโนมัติ และสามารถเทียบกับแผนการรักษาได้โดยตรง อีกทั้งมีความแม่นยำสูงที่สุดเทียบกับสินค้าในตลาดปัจจุบัน" ทั้งนี้นวัตกรรม Double Dot QA พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และสร้างประโยชน์ให้กับวงการทางการแพทย์ของประเทศต่อไป

HTML::image( HTML::image( HTML::image(