นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ กรรมการบริหารรักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์การจัดงานมหกรรม"ชุมชนสุขภาวะ" ครั้งนี้ เพื่อแสดงผลการดำเนินงาน ชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางของหน่วยงานองค์กร และภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินงานของเครือข่ายพลเมืองอาสาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
"ที่ผ่านมา งานพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็ง ได้มีการพัฒนาอย่างหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ให้การสนับสนุน เช่น การจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล ตำบลสุขภาวะ แผนแม่บทชุมชน แผนพัฒนาชุมชน การบูรณาการแผนชุมชนสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองผ่านตำบลเรียนรู้ประชาธิปไตย การขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล การพัฒนาที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท การส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในชุมชน และยังมีด้านอื่นๆ อีก เช่น ห้องเรียนชุมชน หลักสูตรท้องถิ่น งานยุติธรรมชุมชน อาสาสมัครชุมชนในด้านต่างๆ" นางทิพย์รัตน์ กล่าว
ด้าน นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงงาน มหกรรม "ชุมชนสุขภาวะ" ว่า เราทุกคนทราบดีว่า งานพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนและชุมชนเข้มแข็ง ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรภาคีส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาในระดับชุมชนเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็ลงไปปฏิบัติการในชุมชนพื้นที่เดียวกัน จึงเกิดความซ้ำซ้อนไม่บูรณาการ เพราะอยู่ในสภาพที่ต่างคนต่างทำ รวมถึงมีเป้าหมายที่แตกต่างกันของแต่ละองค์กร ถึงแม้จะมีความพยายามในการบูรณาการ หรือจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ หรือลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วม เพื่อแสดงความมุ่งมั่นกันก็ตาม
"ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะสามารถร่วมเป็นหัวใจ เป็นจิตใจดวงเดียวกันมาเชื่อมโยงรวมพลังกันเพื่อเป็นพลังของพลเมืองอาสา ขับเคลื่อนงานสร้างชุมชนสุขภาวะ สร้างชุมชนเข้มแข็ง ผมขอให้กำลังใจกับทุกท่าน และขออวยพรให้ ทุกท่านมีสุขภาวะ และร่วมกันทำให้คนไทยและสังคมไทยเกิดสุขภาวะ เกิดชุมชนเข้มแข็ง ช่วยกันสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้คนไทยด้วยกัน" นายแพทย์สำเริง กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพ ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ "สังคมสุขภาวะ" จึงใช้หลักการของ "การสานพลัง" เพื่อเชื่อมโยง สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ใช้ เครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ภายใต้ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพ แทนการซ่อมสุขภาพ (สร้างนำซ่อม) อันเป็นทิศทางที่สำคัญของการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไป