โรคพิษสุนัขบ้า หรือ "โรคเรบีส์ (Rabies)" ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในสุนัขเท่านั้น แต่เกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู กระรอก กระต่าย โค ลิง เป็นต้น รวมถึงมนุษย์ด้วย โดยชนิดสัตว์ที่พบมากที่สุด คือ สุนัข โรคพิษสุนัขบ้า พบได้เกือบทุกจังหวัดของประเทศ และพบได้ทุกฤดู ไม่ใช่แค่หน้าร้อน เป็นโรคที่ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อ กัด เลีย ข่วน หรือโดนบาดแผล / เยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2 – 7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงอาการในสัตว์ที่ติดเชื้อ ว่ามี 2 แบบ คือ แบบเซื่องซึม จะมีไข้ ซึม นอนซม ไม่กินอาหาร น้ำ ชอบอยู่ในที่มืด/เงียบ อาจมีอาการไอ ใช้ขาตะกุยคอ ต่อมาจะเดินโงนเงน เป็นอัมพาตทั้งตัว และมักตายภายใน 10 วัน ส่วนแบบดุร้าย จะมีอาการกระวนกระวาย วิ่งพล่าน ดุร้าย กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า ลิ้นห้อย น้ำลายยืด ต่อมาจะขาอ่อนเปลี้ย สุดท้ายอาจมีอาการชัก หรืออัมพาต และตายในที่สุด แต่ทั้ง 2 กลุ่มอาการสุนัขจะกลืนน้ำและอาหารไม่ได้ (แม้ว่าอยากกินก็ตาม) และจะตายภายใน 10 วัน
เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ปี 2562 ภายใต้ประเด็นสื่อสาร "Vaccinate to Eliminate โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน" สคร.12 สงขลา จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนนำสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน หลังจากนั้น 1 เดือน กระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง (ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกในปีแรก) จากนั้นฉีดกระตุ้น 1 เข็มซ้ำทุก ๆ ปีตลอดชีวิต นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้น ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง ควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงโดยการทำหมันแบบถาวร และที่สำคัญ คือ ป้องกันตัวเองจากการถูกสัตว์กัดหรือข่วนด้วย คำแนะนำ 5 ย. คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
HTML::image(