ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) กล่าวว่า เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ASEAN University Network – Quality Assurance หรือ AUN-QA เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสมาชิกใน 10 ประเทศ เพื่อสร้างระบบประกันคุณภาพการศึกษาในระดับหลักสูตรและระดับสถาบัน โดยเชื่อว่าสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคม และเป็นกลไกหลักในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว AUN-QA จึงพัฒนาระบบและกลไกมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาผ่านกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพหลักสูตร การอบรมผู้ประเมินหลักสูตร และการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพระดับสถาบัน
มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ AUN-QA มาโดยตลอด โดยเข้าร่วมการตรวจประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตรตามเกณฑ์ AUN-QA ทั้งหมด 3 ครั้ง ผ่านการประเมินรวมทั้งสิ้น 11 หลักสูตร ซึ่งการประเมินที่ผ่านมามีผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งยังสามารถรักษามาตรฐานคุณภาพหลักสูตรในระดับดีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวอย่างของหลักสูตรที่มีแนวทางการปฏิบัติในระดับแนวหน้าของภูมิภาค
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลักดันให้ทุกหน่วยงานสร้างวัฒนธรรมความเป็นเลิศ (Excellence Culture) ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรครอบคลุมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการศึกษา ด้านการวิจัย ด้านผลงานนวัตกรรมและด้านเทคโนโลยีต่างๆ ให้เหนือความคาดหวังของผู้ใช้บัณฑิต นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศและนานาชาติเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยได้นำแนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome based Education) เข้ามาใช้ในการปรับปรุงเนื้อหาของหลักสูตร และนำเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-QA) มาเป็นกลไกในการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน ยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยอย่างยิ่งที่จะแสดงถึงความเข้มแข็งและมีศักยภาพทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การโอนหน่วยกิต และการสร้างกิจกรรมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิกในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านหลักสูตรการศึกษาอย่างเต็มที่ ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับหลักสูตรมาแล้ว 7 หลักสูตร และในครั้งนี้มีหลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นานาชาติ) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
2. หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์
3. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา
4. หลักสูตรอายุรศาสตรเขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต (นานาชาติ) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ทำให้การตรวจประเมินในแต่ละหลักสูตร มีความเข้มงวดเพื่อให้หลักสูตรนั้นๆ ได้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์หรือตัวชี้วัดตามมาตรฐานของ AUN-QA ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดเป้าหมายการรับรองในระดับนานาชาติจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ของหลักสูตรทั้งหมดภายใน ปี พ.ศ. 2564