นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า แม้ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) รอบล่าสุด จะมีมติ 7 ต่อ 3 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps เป็น 1.75%-2.00% ตามที่นักลงทุนคาด ซึ่งนับเป็นการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกในการประชุมปลายเดือน ก.ค.)
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ Fed ไม่ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความคาดหวังของนักลงทุน โดยในการแถลงข่าวนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวย้ำว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้นั้นเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนนโยบายในช่วงกลางวัฏจักร (Mid Cycle Adjustment) และ Fed ยังไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนยังคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งในอนาคตมีความเสี่ยงอย่างมากที่นักลงทุนจะเทขายสินทรัพย์เสี่ยง หาก Fed ไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องตามที่คาดไว้
"จากการคาดการณ์ดอกเบี้ยของคณะกรรมการ Fed (FOMC Median Dot Plot) ได้ส่งสัญญาณว่า Fed จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75%-2.00% ไปจนถึงสิ้นปี 2563 สวนทางกับนักลงทุนในตลาด Fed Funds Futures ที่ยังมีความคาดหวังสูงว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนยังคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 1-2 ครั้งในปี 2563 ซึ่งยังมากกว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่สนับสนุนให้ลดดอกเบี้ยลงมากที่สุดที่มองว่าจะลดดอกเบี้ยลงอีกเพียงครั้งเดียว จึงมีความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจผิดหวังหาก Fed ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาดไว้ และทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง 'หุ้น' อีกระลอก " นายคมศรกล่าว
ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนทยอยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ที่มีความผันผวนสูง และแนวโน้มผลประกอบการยังถูกดดันจากสงครามการค้า รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และแนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากการอัดฉีดสภาพคล่องและการลดดอกเบี้ย เช่น ทองคำ และ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และหุ้นในกลุ่มที่ผลกำไรไม่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจโลกมากนัก อีกทั้งมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว เช่น กลุ่มเฮลธ์แคร์ (Health Care) เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit