กทปส. ลงพื้นที่ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนเข้าถึงการใช้สื่อ อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยใช้ชื่อโครงการ "Mahidol Kids Care Van" ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดสตูล โดยเนื้อหาของโครงการนี้จะมุ่งให้เกิดพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา รู้ถึงการใช้สื่ออย่างปลอดภัย กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และอาจารย์ในพื้นที่ พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้ความรู้ด้านองค์ประกอบสภาวะอารมณ์ในการรับสื่อและตรวจสุขภาพในโครงการอีกด้วย
ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการ Mahidol Kids Care Van เป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 2 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เพื่อร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในการรับสื่ออย่างสร้างสรรค์ที่ปัจจุบันมีช่องทางในการรับชมที่หลากหลายมากขึ้นทั้งสื่อโทรทัศน์ เว็บไซต์ Social Media ต่าง ๆ ซึ่งทำให้โครงการ Mahidol Kids Care Van มีแนวคิดในการผลิตเนื้อหารายการสำหรับเด็ก เยาวชน ที่ทำให้ตระหนักถึงการรู้เท่าทันสื่อ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ทางด้านการพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย จังหวัดสตูล ถือเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และยังได้เก็บข้อมูลจริงจากพื้นที่จริงที่มีความแตกต่างทางด้านความเป็นอยู่และวัฒนธรรม เพื่อสามารถนำกลับมาวิเคราะห์ ปรับปรุงเนื้อหาสาระในการผลิตรายการ ให้เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวในอนาคตต่อไป
ดร.ระพี กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ โครงการ Mahidol Kids Care Van นอกจากต้องการสร้าง องค์ความรู้ถึงประโยชน์ของเนื้อหาสาระ วางรากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมให้กับเด็ก และเยาวชนไทยแล้ว ยังต้องการสร้างแนวคิดในการเลือกรับชมสื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ เสริมสร้างความรู้ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ โรงเรียน และครอบครัวที่จะช่วยให้เยาวชนเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลายที่เป็นประโยชน์เพียงเลือกเสิร์ชในอินเทอร์เน็ต เลือกรับชมคอนเทนต์ที่มีการสอดแทรกองค์ความรู้และความสนุกที่เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย พร้อมกันนั้นยังมีทีม Mahidol Kids Care Van และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ยังร่วมลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ ทั้งร่างกายภายนอก และสภาวะอารมณ์ พร้อมให้ความรู้ถึงผลจากการรับชมสื่อในเวลานาน และการเลือกรับชมสื่อที่เหมาะกับเด็ก และเยาวชนในแต่ละช่วงวัยอีกด้วย
"โครงการ Mahidol Kids Care Van มีการผลิตรายการทั้งสิ้น 7 รายการ เป้าหมายคือ สร้างเนื้อหาที่เหมาะสำหรับนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4, 5, 6 และบางรายการมุ่งที่ประถมวัย ประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 โดยมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์เคเบิ้ล ช่อง CTH ทางโทรทัศน์สาธารณะ (Free TV) และทางสื่อออนไลน์ผ่านช่องทาง YouTube Channel รวมถึงสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล อาทิ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, สถานีโทรทัศน์ MCOT Family และไทยรัฐทีวี ทุกรายการมุ่งเน้นให้เกิดสาระประกอบความบันเทิง ดังนั้น รายการต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงจำนวนคนดูในแต่ละพื้นที่ โครงการ Mahidol Kids Care Van เราให้ความสำคัญกับบุคลากรในโรงเรียน ครู อาจารย์ และผู้ปกครองที่ต้องสามารถแนะนำในการรับชมสื่อให้กับเด็ก และเยาวชน ให้ความสำคัญต่อรายการที่เป็นประโยชน์ มีความรู้รอบด้าน อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ความรู้ทั่วไปกับ สัตว์ ศิลปะ แม้กระทั้งการออกกำลังกาย ต้องการให้ปรับเปลี่ยนมุมมองถึงเครื่องมือเหล่านี้ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะสื่อดิจิตอล YouTube หรือ Facebook เท่านั้น แต่อยากให้ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และครอบครัวทุกพื้นที่มองว่าเป็นเครื่องมือในการให้องค์ความรู้ ปรับตัวในลักษณะ Active Learning มีเครื่องมือ มีผู้แนะนำ เกิดองค์ความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เราได้เห็นเข้าใจถึงพฤติกรรมเด็ก ได้ทดลองปรับแผนการเรียนการสอนกับอุปกรณ์ เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ในสังคมปัจจุบัน และมองถึงการสร้างคอนเทนต์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก และเยาวชนในอนาคตต่อไป"
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า กทปส. ให้การสนับสนุนด้านการผลิตสื่อและการออกอากาศรายการโทรทัศน์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพราะเห็นว่ารายการสำหรับเด็กในช่องดิจิทัลทีวีมีจำนวนน้อยเกินไป ซึ่ง กทปส. เล็งเห็นความสำคัญในการผลิตคอนเทนต์สำหรับเด็กและเยาวชนให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากรายการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และยังช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ส่วนทางด้านผู้ปกครองจะได้รับสื่อที่ปลอดภัยและมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการรู้เท่าทันสื่อปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้แก่เด็ก อีกทั้งสามารถใช้ความรู้และคุณค่าที่ได้จากรายการไปประยุกต์และปรับสอนหรือทำกิจกรรมภายในครอบครัวเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว
"ทั้งนี้ การลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย จังหวัดสตูล ถือโอกาสที่ดีที่โครงการมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาการส่งเสริมด้านการผลิตรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าที่แท้จริง และตอบโจทย์ความยั่งยืนตามแนวทางที่ กทปส. วางเป้าหมายไว้เช่นเดียวกัน และ กทปส. เชื่อมั่นในศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับทุนสนับสนุนครั้งนี้ ซึ่งเป็นองค์กรทางด้านการศึกษาที่มีคณะทำงานทั้งคณาจารย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากทุกหน่วยงาน รวมถึงผู้ผลิตรายการมืออาชีพที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตรายการระดับสากล นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีช่องทางการเผยแพร่รายการทาง YouTube ในการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงที่มีการประชาสัมพันธ์รายการผ่านทาง Facebook Mahidol Channel เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นการรับรู้และทำให้ผู้ชมทุกวัยสามารถเข้าชมรายการอย่างต่อเนื่องในอนาคต" นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit