ทำไมถึงเลือกศึกษาเรื่องเปลือยสาวเว็บแคมมาเป็นวิทยานิพนธ์
อ.ดร.อรวรรณ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นจากความสนใจเรื่องปรากฏการณ์สาวเว็บแคม เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการศึกษา มีเพียงการทำสารดี หรือการตีแผ่เรื่องของสาวเว็บแคม ซึ่งเนื้อหาเป็นไปในแง่ลบ ทำให้คนในสังคมตัดสินการกระทำดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและผิดศีลธรรม จึงเกิดคำถามการวิจัยว่า
เมื่อสังคมมองว่าการเป็นสาวเว็บแคมเป็นเป็นสิ่งที่ไม่ดีแล้ว แต่เพราะเหตุใดกลุ่มสาวเว็บแคมที่กล้าถอดเสื้อผ้าโชว์จึงยังกล้าทำ จึงตั้งประเด็นในการศึกษามา 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. กิจกรรม, แรงจูงใจที่เกิดขึ้นในแคมฟร็อก คืออะไร
2. สิ่งที่อยู่หรือเกี่ยวข้องกับแคมฟร็อกมีอิทธิพลในการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์การเป็นสาวเว็บแคมอย่างไร
3. พฤติกรรมของสาวเว็บแคมก่อรูปจากใคร อย่างไร
ระยะเวลา 10 เดือน ในการศึกษาและเก็บข้อมูล
อ.ดร.อรวรรณ ได้เข้าไปศึกษาโดยการใช้โปรแกรมแคมฟร็อกเป็นระยะเวลาทั้งหมด 10 เดือน และเข้าไปศึกษาในกลุ่มที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยแบ่งช่วงในการเก็บข้อมูลออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่
1. ช่วงสังเกตการณ์แบบเงียบ เป็นการศึกษาวัฒนธรรมในห้องที่ศึกษา และมีปฏิสัมพันธ์ภายในห้อง ข้อมูลที่ได้จากการเข้าถึงข้อมูลในระดับนี้คือ สามารถแบ่งกลุ่มได้ทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1) สาวเว็บแคมที่ถอดเสื้อผ้าเพื่อโชว์เรือนร่าง 2) กลุ่มที่เป็น Owner และ Operator 3) กลุ่มที่เป็น Friend และ User
2. พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์และสร้างความคุ้นเคยกับบุคคลที่อยู่ในห้องที่ศึกษา และหาผู้ที่มีศักยภาพ ที่สามารถจะให้ข้อมูลได้ ซึ่งใช้ระยะเวลา 6 เดือน
3. การสัมภาษณ์แบบ IM และการสัมภาษณ์แบบเห็นหน้าตัวต่อตัว โดยใช้ผู้สัมภาษณ์ ทั้งหมด 23 คน แบ่งเป็นสาวเว็บแคม จำนวน 9 คน Owner และ Operator จำนวน 7 คน และ User จำนวน 7 คน
4. การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องที่ใช้ศึกษา เพื่อนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับการเข้าถึง ข้อมูล ใน 3 ระดับในข้างต้น โดยมีกิจกรรมที่เข้าร่วม ทั้งหมด 3 กิจกรรมได้
1) การ meeting ในวันฮาโลวีน ณ กรุงเทพฯ
2) การแฮงค์เอ้าท์ ที่เชียงใหม่
3) การประชุมออนไลน์ของห้องที่ศึกษา ซึ่งเป็นการประชุมเฉพาะ Owner และ Operator เท่านั้น
พบผลการศึกษาสรุปได้ The 5F Model
อ.ดร.อรวรรณ ได้สรุปผลการศึกษาดังนี้
1. Finance (การเงิน) การขายผลิตภัณฑ์ เช่น code 100 จอ, การขายของขวัญ,การขาย Sex toys ซึ่งสาวเว็บแคมสามารถสร้างรายได้จากการขาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และในมุมของ Owner ได้มีการทำธุรกิจและขาย ผลิตภัณฑ์แคมฟร็อกด้วยการเปิดห้องแคมฟร็อก, มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการอื่น, การจัด meeting , การขายสินค้าเพื่อสร้าง brand royalty
ดังนั้นเงินถือว่าเป็นแรงจูงใจที่ทำให้สาวแคมฟ็อกเข้ามาเล่นแคมฟร็อก โครงสร้างของแคมฟร็อกมีส่วนในการสร้างอัตลักษณ์ของสาวแคมฟร็อก เพราะหากไม่มีสาวแคมฟร็อกก็ไม่สามารถดึงดูดให้คนมาสนใจหรือซื้อสินค้าได้
2. Freedom (อิสรภาพ) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ Freedom from และ Freedom to กล่าวคือ
Freedom from คือ อิสรภาพจากการควบคุมของพ่อแม่ และอิสระภาพจากการถูกทำร้ายร่างกายจากการออกไปเที่ยวตามสถานบันเทิง
Freedom to คือ สามารถสร้างธุรกิจที่ปราศจากการควบคุมของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องภาษี และอิสระในเรื่องการแสดงออกทางเพศ
3. Fame (ชื่อเสียง) ในโลกออฟไลน์สาวแคมฟร็อกไม่มีตัวตน ไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าอยู่ในโลกออนไลน์หรือแคมฟร็อกแล้ว จะเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง
4. Fun (ความสนุก) การเล่นแคมฟร็อกคือ ความสนุก ที่เป็นเสมือนสถานบันเทิงที่ต้องการมาเที่ยวเพื่อหลีกหนีจากความเบื่อหน่าย จำเจ สะท้อนให้เห็นว่า สาวแคมฟร็อกมองพื้นที่ดังกล่าวว่าเป็น "พื้นที่เล่น" ไม่ใช่พื้นที่จริง
5. Friendship (มิตรภาพ) แบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ 1. ความต้องการหาเพื่อนคุยที่ไม่ใช่คนที่รู้จัก หรือใกล้ชิด 2. มิตรภาพแบบพี่น้อง 3. ความสัมพันธ์แบบกิ๊ก
สาวแคมฟร็อกมองเห็นโอกาสและกำหนดพฤติกรรมให้เหมาะสมได้
อ.ดร.อรวรรณ กล่าวว่า การเกิดอัตลักษณ์ของสาวเว็บแคม มาจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเป็นปัจเจก กับโลกที่ปัจเจกปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งเกิดจากโครงสร้างทางสังคมในโลกออฟไลน์ที่ขาดแคลนบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งสาวแคมฟร็อกก็เข้ามาในโลกออนไลน์หรือแคมฟร็อก เพื่อหาสิ่งที่โลกออฟไลน์ขาดแคลน เพราะจะมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนทุน นอกจากนี้ สาวแคมฟร็อกสามารถกำหนดพฤติกรรมเพื่อให้เกิดความ เหมาะสมกับโลกทั้งสองแบบไม่ว่าจะเป็นทั้งโลกออฟไลน์ หรือโลกออนไลน์
ข้อคิดจากเรื่องสาวแคมฟร็อกเป็นอย่างไร ในเมื่อสังคมทุกวันนี้ความคิดของแต่ละคนก็ใหญ่ไม่แพ้กัน การเคารพในการตัดสินใจของแต่ละคน หากว่ามีคนเห็นต่างจากเรา เราต้องเคารพ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานของวิธิคิดฐานประชาธิปไตย ฉะนั้นถ้าเราเปิดใจยอมรับ ถึงแม้เขาจะไม่มีบรรทัดฐานทางสังคมเหมือนเรา หรืออยู่คนละวัยกัน ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มันเป็นความต่าง หากเราเคารพซึ่งกันและกัน เราจะไม่มองเขาไม่ดีแต่มันเป็นแค่ความต่าง คือต่างไม่ใช่ศัตรู ต่างก็คือคนที่เห็นไม่เหมือนด้วยกับเรา จะดีไม่ดีเราก็ต้องดู อ.ดร.อรวรรณกล่าว
โดย ร.ศ.ด.ร. ไพโรจน์ วิไลนุข ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเรื่องหลังสมัยใหม่ วิธีวิทยา Ethnography และแนวคิดของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ที่ใช้ ถือว่าเป็นข้อดีของงานวิจัยนี้ แต่ควรอธิบายเพิ่มถึงการใช้ประโยชน์กับสังคม อีกทั้ง รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิคนสำคัญภายในงานนี้ ได้เสริมในประเด็นดังกล่าวว่า วิธีวิทยา Ethnography อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง Natural Setting ที่ผู้วิจัยจะต้องลงไปสัมภาษณ์ด้วยตนเองซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยได้ความเข้าใจต่อกลุ่มสาวแคมฟรอกมากขึ้น
หนึ่งข้อสรุปที่ อ.ดร.อรวรรณ ได้ทิ้งท้ายไว้จากงานวิจัยนี้ คือ การก่อรูปอัตลักษณ์สาวเว็บแคม เป็นการปฏิสังสรรค์กันระหว่างความเป็นปัจเจกโลก ที่เกิดจากอิทธิพลทางสังคมออฟไลน์ และระบบอิทธิพลจากสังคมออนไลน์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้สามารถสร้างความเหมาะสมให้เกิดกับโลกทั้งสอง
แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายในงานวิจัยดังกล่าว และปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมในประเด็นที่กล่าวมานี้ในปัจจุบันอาจต้องสื่อสารถึง ศีลธรรม จรรยา ให้ได้เรียนรู้ถึงผลกระทบต่อสังคม ถึงแม้ว่าจะเป็นวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มเฉพาะ แต่หากมีการแสดงให้เห็นถึงผลที่ตามมาอย่างละเอียด ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมในสังคมไทย เพื่อสร้างวุฒิภาวะและวิจารณญาณให้เกิดขึ้นกับกลุ่มดังกล่าว ก็เป็นความเหมาะสมที่พวกเราควรมุ่งเน้นเสริมสร้างเพื่อเยาวชนให้มีความคิดที่ถูกต้องก่อนจะลงมือกระทำอะไรต่อไป