นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (BGIC) ผู้พัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เกี่ยวกับชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical Products) และอื่น ๆ เปิดเผยว่า BGIC ตนเห็นโอกาสและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมการผลิตยาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันการศึกษางชั้นนำในการร่วมมือกันเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวเภสัชภัณฑ์ มุ่งสู่การเป็นผู้นำในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ของประเทศ
ในปี 2561 ตลาดยาแผนปัจจุบันทั่วโลกมีมูลค่า 24 ล้านล้านบาท เติบโต 6.5% โดยยาที่มีการเติบโตสูงและกำลังเป็นที่นิยมคือยาชีววัตถุ มีอัตราการเติบโตสูงถึง 13% ขณะที่ในเอเชียมีการเติบโตถึง 19% สูงกว่าอัตราการเติบโตโดยรวม ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อไป ส่วนภาพรวมของตลาดของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 6.5% โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดยาที่เป็นเคมีสังเคราะห์ประมาณ 70% ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำเข้าทั้งในรูปแบบวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตในประเทศและนำเข้ามาในรูปแบบยาสำเร็จรูป แต่พบว่ายาชีวภาพมีสัดส่วน 30% เติบโตสูงถึง 16-19% และมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 5-10 ปี โดยคาดว่าประเทศไทยจะสามารถทำการและผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ จากงานวิจัยภายในประเทศได้เองในอนาคตอันใกล้
นายมารุต กล่าวอีกว่า BGIC มีการจัดรูปแบบระบบการบริหารจัดการในโครงการต่าง ๆ ระบบรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างดี โดยเป็นผู้เชื่อมโยงสร้างระบบความร่วมมือจากภาคส่วนสำคัญ ๆ เช่น ภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical Industry) ของประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก ทั้งยังมีแนวทางการสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเข้าร่วมลงทุน เพื่อสร้างพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการที่จะร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ให้เป็นที่แพร่หลายในประเทศ ด้วยการเข้าร่วมเตรียมความพร้อมและสร้างศักยภาพในการขับเคลื่อนเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมผลิตยาชีววัตถุของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนเป็นมาตรฐานสากล
นายมารุต กล่าวด้วยว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ มจธ ครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตยาชีวภาพจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยอันจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตของคนไทยและพร้อมที่จะพัฒนาต่อให้เกิดมาตรฐานในระดับสากลอันจะช่วยให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้ซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงความมั่นคงอุตสาหกรรมยาให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการร่วมพัฒนาและผลิตบุคลากรอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
"ส่วนตัวผมมีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพควบคู่กับเทคโนโลยีดิจิทัลมานานพอสมควร จนได้รับโอกาสให้เข้ามาร่วมศึกษาแนวทางการสร้างประโยชน์ประเทศจากอุตสาหกรรมนี้ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใหม่สำหรับประเทศ แต่ด้วยเหตุผลที่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่จะเป็นสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์สำหรับประเทศ ถ้าเราสามารถทำให้เกิดระบบที่สามารถเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาและสร้างให้เป็น Ecosystem ที่เกื้อกูลกัน ทำให้รูปแบบการขับเคลื่อนมีความคล่องตัวมีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพที่เน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วนก็จะสามารถคือการสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติและนำพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ของโลกนี้ด้วย New S-Curve ที่มีรากฐานที่แข็งแรงอย่างเต็มภาคภูมิ"นายมารุต กล่าวในตอนท้ายว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพนับวันจะเติบโตและมีมูลค่าที่สูงมากขึ้นในต่างประเทศ เพราะเป็นที่ยอมรับทั้งจากแพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วยว่าชีวเภสัชภัณฑ์มีคุณสมบัติในการรักษาโรคร้ายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ยาที่มาจากเคมี สังเคราะห์ดังจะเห็นได้จากยอดขายผลิตภัณฑ์ยาติดอันดับ Top 20 ในตลาดยาทั่วโลกในปี 2561 เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นชีวเภสัชภัณฑ์แล้วถึง 13 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงจากนี้ไปอีกหลายปี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit