โดยนางเมธินี เทพมณี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กล่าวถึงมุมมองรัฐบาลไทยในยุคดิจิทัลว่า ไทยอยู่ในช่วงของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเพื่อผลักดันให้โครงสร้างเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศมั่นคง โดยเรามีการจัดวัดระดับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-กอฟเวอร์เมนท์ (e-Government) ว่าแต่ละส่วนราชการมีการบริการในระดับใด กลุ่มผู้นำ หรือ ลีดเดอร์ (Leader) มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนแนวทางการทำงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยสร้างระบบที่ทำให้ผู้นำมีการพัฒนาหน่วยงานเพื่อการแข่งขันกันเอง กระตุ้นให้คนในหน่วยงานตระหนักรู้และเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น และมีการชี้วัดผลที่เห็นได้ชัดเจน
โดยเรามองว่าการเปลี่ยนผ่านจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะต้องเดินกันไปทั้งองคาพยพ และไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่มองว่ากลุ่มคนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรพัฒนาไปสู่ดิจิทัลได้เป็นผู้นำ แต่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนเอง ก็มีมุมมองไม่ต่างกันในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลในทุกประเทศพัฒนางานบริการของภาครัฐให้ Very Fast Very Soon อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในกลุ่มอาเซียนยินดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนคน ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนของรัฐที่มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศ และภาครัฐกับเอกชนก็ให้การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเต็มที่
ขณะที่ นายบุญประสิทธิ์ ตั้งชัยสุข อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้บริษัทเอกชนและภาครัฐได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) โดยกล่าวว่า เรามีการจัดงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกปี และสำหรับงาน August Series 2019 ครั้งนี้ เราได้รวบรวมเอาการประชุมและสัมมนาทางวิชาการใน 4 ประเด็นสำคัญของประเทศไทยไว้ในงานเดียว คือ งาน eGovernment Forum ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ,งาน Digital HR Forum จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ,งาน Big Data & Cloud Computing และงาน ASOCIO Smart City Summit เป็นการประชุมด้านไอทีในระดับภูมิภาค ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานด้วยเช่นกัน
โดยทุกงานที่เกิดขึ้นล้วนมุ่งเน้นการนำดิจิทัลเทคโนโลยีไปใช้ในการบริหารงานทั้งภาครัฐ ,ภาคเอกชน ,การบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารเมืองอัจฉริยะ ให้สำเร็จและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อหวังว่า ผู้ร่วมงานทุกท่านจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาร่วมเป็นวิทยากร และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้ร่วมงานจากหน่วยงานต่าง ๆ
อีกทั้งปีนี้มีผู้ตอบรับเข้าร่วมฟังสัมมนาถึงมากกว่า 1,200 คน และมีบริษัทพันธมิตรชั้นนำของประเทศ 19 บริษัท นำผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมาสาธิตในงาน โดยผู้ร่วมงานจะได้สัมผัสเทคโนโลยีและ โซลูชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและเราหวังว่างานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียมกัน
ส่วนนายพรชัย วรอังกูร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและบิสซิเนสโซลูชั่น บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เราร่วมกับ ATCI เป็นปีที่ 2 แล้ว ผู้เข้าร่วมชมงานเป็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ซึ่งกลุ่มหน่วยงานรัฐ เป็นกลุ่มลูกค้าที่เราให้ความสนใจและกำลังขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ โดยในยุคดิจิทัล ลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น เรานำสินค้ามา 3 โซลูชั่นหลักได้แก่
1.Smart work Flow สำหรับ e-Government เราเอาส่วนนี้มาเสนอและเผยแพร่หน่วยงานราชการได้เห็นว่า การทรานฟอร์เมชั่นให้เข้าไปสู่ดิจิทัลต้องทำอย่างไร โดยเรามีทีมงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือคำปรึกษาเปลี่ยนจากระบบเดิมเป็นดิจิทัลทำให้การติดตาม ตรวจสอบ จะทำได้ง่ายและแม่นยำขึ้น
2. Visitor management เป็นระบบลงทะเบียนที่ช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ง่ายขึ้น ลดระยะเวลาการลงทะเบียนให้เร็วยิ่งขึ้น โดยเราใช้ระบบคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้คิวอาร์โค้ดในการเข้าสู่ห้องต่าง ๆ ของงานได้ สามารถรู้ว่าลูกค้าเดินอยู่ในส่วนใดของงานบ้าง และในกรณีลูกค้าจำนวนมาก ลูกค้าสามารถลงทะเบียนในระบบออนไลน์ก่อน เพื่อรับคิวอาร์โค้ด
3. Video surveillance system คือระบบความปลอดภัยของกล้องที่สามารถตรวจสอบและจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้น เป็นการทำงานบนซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นอย่างมีระบบ จัดเก็บบิ๊กดาต้าเพื่อนำมาประมวลผล เช่น การจดจำใบหน้า การนับจำนวนผู้เข้า สามารถวิเคราะห์ความหนาแน่นของลูกค้าที่เข้ามาในแต่ละพื้นที่ของงานได้ เป็นผลดีในการวิเคราะห์ตำแหน่งสำคัญในพื้นที่จัดงานแสดงสินค้า หรือนิทรรศการต่าง ๆ
หากมองในแง่ของความก้าวหน้าดิจิทัลนั้น เรารับรู้มาเป็นระยะแต่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ได้ไม่นาน ซึ่งเกิดจากภาครัฐสร้างกระแสและแรงกระตุ้นพร้อมผลักดันขึ้นมา ส่วนเอกชนนั้นมีการพัฒนาโครงสร้างขององค์กรมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญการเชื่อมต่อและเร่งให้เกิดดิจิทัลในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้เร็ว และภาพรวมเศรษฐกิจจะเห็นชัดเจนขึ้นเช่นกัน
ด้านนายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ทำให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับตัว ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการ และสภาพแวดล้อมการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการทำงานและผลประโยชน์สูงสุด ที่องค์กรจะได้รับ ดิจิทัลโซลูชั่นต่าง ๆ ที่นำเข้าใช้งานจึงต้องตอบโจทย์การทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้น ประหยัดยิ่งขึ้น
สำหรับการเข้าร่วมงาน ATCI ของเอปสันในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 และบริษัทฯ ได้นำนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อ Smart Office โดยเฉพาะมาจัดแสดงและสาธิตการใช้งาน ซึ่งนวัตกรรมจากทั้ง 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ของเอปสันนี้ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้วทั้งสิ้น โดยประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูง Epson WorkForce Enterprise WF-C17590 และ C869R ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการพิมพ์ปริมาณมาก ในต้นทุนการพิมพ์ที่ประหยัดกว่า และค่าบำรุงดูแลเครื่องต่ำกว่าเลเซอร์พรินเตอร์
ต่อมาเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอินเตอร์แอ็คทีฟโปรเจคเตอร์ ได้แก่ Epson EB-1470Ui ที่สร้างมิติใหม่ของการพรีเซนเตชั่นและการเรียนการสอน ด้วยการเปลี่ยนทุกพื้นผิวผนังในออฟฟิศหรือห้องเรียนให้เป็นสกรีนอินเตอร์แอ็คทีฟที่ล้ำสมัย ส่วนกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ระบบแท็งค์ บริษัทฯ ได้นำมัลติฟังก์ชันพรินเตอร์ ทั้งรุ่น EcoTank L-Series ที่พิมพ์สี่สี และ M-Series สำหรับพิมพ์ขาวดำ มาจัดแสดง ซึ่งทั้งสองรุ่นสามารถพิมพ์งานปริมาณมากด้วยความเร็วสูง ด้วยต้นทุนการพิมพ์สี่สีต่อแผ่นเพียง 13 สตางค์ และพิมพ์ขาวดำ 5 สตางค์ บวกกับ ฟังก์ชันพิมพ์แบบ Duplex ซึ่งทำให้ช่วยประหยัดกระดาษในออฟฟิศลงได้ถึง 50% อีกด้วย และสุดท้ายผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องพิมพ์ฉลากจะมีทั้ง Epson ColorWorks และ LabelWorks ที่ทำให้การพิมพ์ฉลากทุกประเภทที่ใช้ในโรงงาน อุตสาหกรรม หรือฉลากติดบรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น