"นายกรัฐมนตรีฯ ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งหามาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลด ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยให้เข้าไปให้ส่งเสริมอาชีพเพื่อให้มีเงินใช้ภายใน 120 วัน ซึ่งแพะ-แกะ เป็นสัตว์ที่มีโอกาสสร้างรายได้สูง เพราะลงทุนน้อย ผลตอบแทนไว และเลี้ยงง่าย จึงยินดีสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้" รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กล่าว
จากการรายงานพบว่า ในปี 2562 มีจำนวนแพะในประเทศไทยทั้งสิ้น 832,533 ตัว (แพะเนื้อ 803,768 ตัว แพะนม 28,765 ตัว) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จำนวน 65,850 ครัวเรือน โดยในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งแก่ชมรมเกษตรกรเลี้ยงแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด สมาชิกเกษตรกรเลี้ยงแพะ 7,551 ราย สภาพการเลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สามารถผลิตและส่งออกแพะเนื้อบางส่วนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะแพะเนื้อ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรเลี้ยงแพะในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ตลาดมีความต้องการเป็นจำนวนมาก เพราะราคาดี ต้นทุนต่ำ
นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเพื่อมุ่งให้เกษตรกรที่เข้าร่วมและผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงแพะ ได้รับรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้การเลี้ยงแพะ ตลอดจนการพัฒนาแพะด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการเลี้ยงในอนาคต และแนวทางในการดำเนินโครงการแพะ แกะล้านนา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้การเลี้ยงแพะของเกษตรกรภายใต้โครงการมีความยั่งยืน โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ฐานการเรียนรู้ ด้านพันธุ์แพะ ด้านอาหารสัตว์ ด้านผสมเทียม และเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านสุขภาพและมาตรฐานฟาร์ม ด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิต พร้อมมอบเอกสารคู่มือการเลี้ยงแพะ จำนวน 1,000 เล่ม แก่เกษตรกร และผู้สนใจ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายแนวทางการดำเนินงานโครงการแพะ–แกะ ล้านนา โดยเจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารโครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน กรมปศุสัตว์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการแพะ–แกะ ล้านนา พื้นที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 และตั้งคณะกรรมการโครงการแพะ–แกะ ล้านนา ระดับจังหวัด จำนวน 3 จังหวัด เพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ในด้านต่างๆ เช่นด้านปรับปรุงพันธุ์แพะ ด้านพืชอาหารสัตว์ และอาหารแพะ ด้านสุขภาพและมาตรฐานฟาร์ม ด้านผสมเทียม และเทคโนโลยีชีวภาพ และด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เป็นต้น