นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้สนับสนุนนโยบายการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะใน 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น มวยไทย และเทศกาล ประเพณี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้สู่ประชาชน ชุมชนและประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมการจัดงานประเพณีและเทศกาลศิลปวัฒนธรรมของไทย ซึ่งวธ.มุ่งเน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม สร้างรายได้และความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา วธ.ได้ส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นจนเป็นที่รู้จักกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน มหกรรมหน้ากากนานาชาติ จ.เลย ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2562 มีประเพณีที่สำคัญและเป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้แก่ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยวธ.ร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาชนจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี พ.ศ.2562 ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 1 ตุลาคม 2562 ณ วัดไตรภูมิ วัดโบสถ์ชนะมาร และพุทธอุทยานเพชบุระ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อสืบทอดโบราณประเพณีและความเชื่อตามตำนานศักดิ์สิทธิ์วันแรม 15 ค่ำเดือน 10 โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา โดยนางรำกว่า 2,500 คน พิธีบวงสรวงเทพยดา พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีสำคัญคือ การอัญเชิญ "พระพุทธมหาธรรมราชา" จากวัดไตรภูมิแห่รอบเมืองเพชรบูรณ์ โดยความพิเศษในปีนี้จะเป็นขบวนมหาพุทธบูชาแห่งอาเซียน เพื่อยกระดับให้พระพุทธมหาธรรมราชาก้าวไกลสู่ระดับอาเซียน นอกจากนี้มีกิจกรรมการประกวดวาดภาพ ประกวดสำรับอาหารพื้นบ้าน ประกวดโต๊ะหมู่บูชา การแข่งขันพายเรือทวนน้ำ การแสดงแสง เสียง ตำนานอุ้มพระดำน้ำ ตลาดนัดวัฒนธรรมและงานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย โดยมีพิธีเปิดงานในวันที่ 27 กันยายน 2562 ณ บริเวณหน้าหอโบราณคดีเพชรบูรณ์ อินทราชัย และพิธีอุ้มพระดำน้ำในวันที่ 28 กันยายน 2562 ณ บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร
รมว.วธ กล่าวต่อว่า ประเพณีสารทเดือนสิบหรือประเพณีสารทไทย เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและมีพิธีปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่าเป็นประเพณีที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณและอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จัดช่วงปลายเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 28 กันยายน 2562 มีชื่อเรียกและกิจกรรมแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค อาทิ ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเมืองนครและงานกาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปี 2562 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 94 (ทุ่งท่าลาด) เป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ,งานประเพณีสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ประจำปี 2562 เป็นต้น โดยมีกิจกรรม อาทิ พิธีทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังธรรม การกวนข้าวทิพย์ หรือ ข้าวปายาส ข้าวยาคูและกระยาสารท การจัดหมรับและยกหมรับ พิธีการชิงเปรต ประเพณีทำบุญตายายหรือประเพณีรับส่งตายายที่ล่วงลับไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีประเพณีถือศีลกินผัก (กินเจ) ซึ่งถือเป็นเทศกาลสำคัญของคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 7 ตุลาคม 2562 ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อาทิ เทศกาลกินเจเยาวราช ประจำปี 2562 ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา และบริเวณโดยรอบเยาวราช ,ประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2562 ณ บริเวณศาลเจ้าในจ.ภูเก็ต ,เทศกาลกินเจไทย-มาเลย์ อ.เบตง จ.ยะลา ,ประเพณีกินเจ ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา เมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์ ประจำปี 2562 ณ จ.นครสวรรค์ และเทศกาลกินเจเมืองพัทยา ประจำปี 2562 ณ มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ฯ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นต้น โดยในแต่ละพื้นที่มีการจัดกิจกรรมแตกต่างและคล้ายคลึงกัน อาทิ การถือศีลอย่างเคร่งครัดและแต่งกายด้วยชุดสีขาว พิธีบูชาและอัญเชิญองค์เทพลงมาเป็นประธานในงานถือศีลกินผักแต่ละศาลเจ้า พิธีสวดมนต์ เดินธูป พิธีลอยกระทง ขอขมาต่อพระแม่คงคา พิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณผู้ไร้ญาติ พิธีทิ้งกระจาด และเผาเครื่องทรงถวาย เป็นต้น
ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ และประเพณีถือศีลกินผัก (กินเจ) ประจำปี 2562 เพื่อสืบสานประเพณีและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป