นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน How AI can enable a sustainable future จัดทำโดยทีมวิจัย PwC ประเทศสหราชอาณาจักร โดยรายงานได้ทำการศึกษาถึงโอกาสทางธุรกิจจากการนำเอไอมาใช้ เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษในปัจจุบันจนถึงปี 2573 พบว่า ศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ นั้นมีมากมายมหาศาล โดยมีการนำเอไอมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กริด หรือสายส่งพลังงานสะอาดแบบกระจายที่ขับเลื่อนด้วยเอไอ การทำเกษตรอัจฉริยะ การจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบยั่งยืน การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการบังคับใช้ รวมไปถึงการพยากรณ์อากาศและภัยพิบัติ รวมทั้งแนวทางการตอบสนอง ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างแค่บางส่วนของการนำเอไอมาใช้
ทั้งนี้ การศึกษานี้ได้จำลองเหตุการณ์ของการประยุกต์ใช้เอไอใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การเกษตร การขนส่ง พลังงาน และทรัพยากรน้ำ โดยได้คาดการณ์ว่า การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อสิ่งแวดล้อมใน 4 อุตสาหกรรมนี้ จะสามารถช่วยผลักดันให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก สูงขึ้นได้ถึง 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 159 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ
ในขณะเดียวกันคาดว่า เอไอจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วโลกได้ 4% ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 2.4 Gt CO2e (เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่นรวมกัน ภายในปี 2573)นอกจากนี้ ยังคาดว่า ภายในปี 2573 เอไอจะช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลกได้ถึง 38.2 ล้านตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพงานที่ต้องใช้ทักษะทางด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก
นางสาว ซีลีน เฮอร์วายเยอร์ หัวหน้าสายงาน Global Innovation & Sustainability ของ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า
"พูดง่ายๆ ก็คือว่า เอไอจะเข้ามาช่วยให้ระบบเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเราให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต รายงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีเกิดใหม่ ที่สามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรงจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะใกล้และระยะยาว"
ทั้งนี้ หากพิจารณาในระดับทวีปพบว่า ภายในปี 2573 เอไอจะมีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทวีปอเมริกาเหนือได้มากที่สุด (-6.1%) ตามมาด้วยทวีปยุโรป (-4.9%) ขณะเดียวกัน เอไอจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นมากที่สุดในทวีปยุโรป (+5.4%) แต่ในทางตรงกันข้าม ทวีปละตินอเมริกาและภูมิภาคที่มีพื้นที่อยู่ในทวีปแอฟริกาและอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราจะเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากศักยภาพของเอไอน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี พวกเขาจะได้ประโยชน์มากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการหลีกเลี่ยงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุด ผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
รายงานยังระบุด้วยว่า การประยุกต์ใช้เอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน และขนส่ง จะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยประโยชน์ของเอไอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยังรวมถึงการลดการใช้พลังงาน ระบบออโตเมชันของงานที่ทำด้วยมือ หรืองานที่ทำเป็นประจำ และยังสามารถช่วยลดการปล่อยพลังงานต่อหน่วยจีดีพีได้ถึง 6-8% ภายในปี 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ
รายงานยังพบสัญญาณบ่งชี้ถึงศักยภาพของเอไอเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ยกตัวอย่าง ระบบเตือนภัยมลพิษทางอากาศที่มีความแม่นยำและเป็นภาษาท้องถิ่น จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกได้ถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์หรือราว 7.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สุขภาพของมนุษย์โดยรวมดีขึ้น
นอกจากนี้ ประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำ มลพิษทางอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า การเสื่อมโทรมของที่ดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ ก็สามารถทำได้ผ่านการมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีฐานข้อมูลที่เจาะลึก เช่น การใช้ข้อมูลผ่านดาวเทียม และเซ็นเซอร์จากฐานปฏิบัติการภาคพื้นดิน เพื่อเฝ้าระวังสถานภาพของป่าแบบเรียลไทม์และตามขนาดจริง ซึ่งจะช่วยให้ระบบสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยเมื่อมีเหตุการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่า จะสามารถช่วยปกป้องป่าได้ถึง 32 ล้าน เฮกเตอร์ ภายในปี 2573
อย่างไรก็ดี รายงานเตือนด้วยว่า แม้เอไอจะมีศักยภาพในการช่วยบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีความเสี่ยงจากการประยุกต์ใช้ โดยสามารถทำให้ภัยคุกคามที่อาจจะมีอยู่แล้ว ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หรืออาจสร้างความเสี่ยงใหม่ๆ ได้ เช่น ความเสี่ยงจากการใช้งานเอไอที่เชื่อมโยงกับอคติและการควบคุมที่อาจส่งผลต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคที่สำคัญและขยายตัวเป็นวงกว้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ ที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักเพื่อให้สามารถดึงศักยภาพที่แท้จริงของเอไอออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่
นางสาว ซีลีน เฮอร์วายเยอร์ กล่าวเสริมว่า:
"บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องแสดงความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบ โดยพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างมูลค่าในระยะยาว สิ่งที่ชัดเจนคือ บริษัทและประเทศไหนที่ทำได้ดีที่สุด จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับตนเองในยุคของเอไอ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน"
ด้าน นางสาว วิไลพร กล่าวสรุปว่า:
"เป็นที่น่ายินดีว่า กระแสของนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยหลายองค์กรทั่วโลกมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดและแก้ปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของประเทศไทยเอง จะเห็นว่ามีบริษัทชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรมที่นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับสินค้าหรือบริการของตนเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเล ที่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยควบคุมปริมาณและชนิดของปลาที่ถูกจับ ป้องกันปัญหาปลาบางชนิดสูญพันธุ์ หรือ บริษัทที่พัฒนาโถสุขภัณฑ์ที่มีระบบการบำบัดของเสียก่อนไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีในการดำเนินธุรกิจตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรายังเชื่อว่า ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะยิ่งมีผู้ประกอบการอีกมากที่หันมาใช้เอไอและเทคโนโลยีเกิดใหม่ประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit