นายแพทย์สมชาย ธรรมสารโสภณอธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงบริการของประชาชนที่อยู่ห่างไกล สถาบันพระบรมราชชนก ในฐานะมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพเพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข สถาบันฯ จึงมุ่งผลิตบัณฑิตที่สามารถปฏิบัติงานในระบบสุขภาพชุมชน มีจิตวิญญาณในการให้บริการด้านสุขภาพในชุมชนอย่างมืออาชีพ โดยกำหนดอัตลักษณ์ของบัณฑิตของสถาบันว่า 'ให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์' ซึ่งหมายถึงการให้บริการที่เป็นมิตร มีความรักความเมตตา และใส่ใจในปัญหาและความทุกข์ของคนไข้และผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมตัวชี้วัดสมรรถนะและคุณลักษณะของบัณฑิต 3 ประการ คือ SAP ได้แก่ จิตบริการ (Service mind) การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) และการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ (Participation) รวมทั้งส่งเสริมให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามโมเดล 4.0 ทั้งในด้านการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบต่อสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งมีความแตกต่างจากการเน้นพัฒนาบัณฑิตในรูปแบบเดิมๆ
"ความต้องการด้านบริการสุขภาพในอนาคตส่งผลให้แพทย์และพยาบาลต้องปรับบทบาทใหม่ในหลายด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนที่เปลี่ยนไป สำหรับพยาบาลในชุมชน ต้องปรับบทบาทจากผู้ให้การดูแลช่วยเหลือโดยตรงแก่ผู้ป่วย เป็นการให้ความสำคัญกับบทบาทผู้จัดการด้านสุขภาพ และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพของชุมชน โดยเพิ่มบทบาทของการเป็นผู้ให้คำแนะนำความรู้และคำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพกายและใจเพื่อป้องกันการเกิดโรค ซึ่งเป็นลักษณะเชิงรุกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังรักษาคุณภาพของการบริการที่เข้าถึงได้ง่าย การใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า และการประสานงานเพื่อจัดบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของคนไข้ พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยที่จะช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ของวิชาชีพการพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่คนไข้"นายแพทย์สมชาย กล่าว
ปัจจุบัน สถาบันฯ มีวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดจำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้ผลิตบัณฑิตออกไปปฏิบัติงาน ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 200,000 คน รวมถึงบัณฑิตภายใต้โครงการ "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" กว่า 640 คน โดยสถาบันฯ ได้ร่วมกับบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ดำเนินโครงการให้ทุนการศึกษา "จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน" ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน รวม 20 รุ่น เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบทให้มีโอกาสทางการศึกษาวิชาชีพพยาบาลและปฏิบัติงานในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขในชุมชนท้องถิ่นของตนหลังจบการศึกษา ทำให้มีบุคลากรด้านสาธารณสุขในชุมชนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลก็จะมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น
อาจารย์อรทัย พรมแก้ว หัวหน้างานทุนการศึกษาและสวัสดิการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า "ความต้องการพยาบาลในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การผลิตพยาบาลวิชาชีพก็ทำได้ค่อนข้างจำกัด สาเหตุหนึ่งคือ นักศึกษาที่ใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาลนั้นขาดแคลนทุนทรัพย์ ความช่วยเหลือจากโครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน จึงเป็นความหวังและมีค่ามากต่อนักศึกษาที่ได้รับทุน ซึ่งทุนการศึกษาของโครงการเป็นทุนให้เปล่าและต่อเนื่องจนกระทั่งนักศึกษาพยาบาลเรียนจบ จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ครอบครัวของนักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจนได้อย่างมาก สำหรับระบบการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ จะมุ่งเน้นการให้ความรู้ทั้งด้านวิชาการ การสร้างทัศนคติเพื่อเป็นพยาบาลที่ดี การทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ และเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละและอดทน แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่สถาบันฯ ให้ความสำคัญและพยายามเคี่ยวเข็ญนักศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานดูแลผู้ป่วยในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข"
นางสาววิภาดา ศรีชัยทอง นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อคุณแม่ของเธอเสียชีวิตตั้งแต่เธออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 คุณน้าจึงรับเธอและน้องสาวมาอุปการะเลี้ยงดู แต่ด้วยคุณน้ามีครอบครัวและมีบุตรสามคนจึงมีภาระที่หนักหน่วง เธอจึงพยายามศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่และตั้งใจอยากเรียนพยาบาลเพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงและได้ช่วยเหลือผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็มองหาทุนการศึกษาที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวจนได้ทราบถึงโครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน และได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษานี้
"จริงๆ แล้ว หนูกลัวเลือด แต่เพราะว่าอาชีพพยาบาลมีความมั่นคงและมีโอกาสทำความดีด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น หนูจึงมองข้ามความกลัวนี้ไป และพอได้มาเรียนจริงๆ หนูก็รู้สึกดีมาก หนูได้รับพลังด้านบวกจากคนไข้อยู่เสมอ คำขอบคุณอย่างจริงใจของพวกเขาทำให้เรามีกำลังใจ และอยากปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไป หนูและเพื่อนๆ เคยมีโอกาสไปพบปะชุมชนซึ่งเป็นกิจกรรมบังคับของวิชาเรียน โดยได้รับมอบหมายให้ไปดูแลคุณยายอายุกว่า 80 ปี ท่านป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน และข้อเข่าเสื่อม กิจกรรมส่วนใหญ่ของคุณยายคือนั่งดูทีวีไปเรื่อยๆ เพื่อให้เวลาผ่านพ้นไป นอกจากจะเข้าไปพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเพื่อให้ท่านคลายเหงาแล้ว เราก็พยายามหากิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพให้คุณยายทำ โดยได้ถักยางยืดไปให้ท่านอย่างน้อย เวลาที่คุณยายนั่งดูทีวี ท่านก็จะได้ยืดเหยียดหัวเข่าด้วยยางยืดได้ เราสังเกตได้ว่า คุณยายดูสดชื่นและมีความสุขมากขึ้น ท่านเฝ้ารอทุกวันว่าจะได้พบพวกเรา โดยที่ท่านก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า มิตรภาพดีๆ ที่ท่านมอบให้ ทำให้เรามีความสุขและอิ่มใจมากขนาดไหน"
วิภาดายังเล่าถึงแผนการในอนาคตหลังจากเรียนจบว่า เธอตั้งใจจะกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลใกล้บ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อที่จะได้ดูแลครอบครัวอย่างใกล้ชิด และถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนต่อหลักสูตรเฉพาะทางด้านการพยาบาล เพื่อพัฒนาการทำงานและสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น ก่อนเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า "เป้าหมายที่สำคัญในวิชาชีพพยาบาลของหนูคือ อยากให้ผู้ป่วยที่เรารักษาและดูแล หายเป็นปกติหรือไม่ก็ช่วยลดความทุกข์ทรมานลงให้เหลือน้อยที่สุด หนูขอขอบพระคุณอาจารย์ ผู้ป่วยและครอบครัว ที่ช่วยให้หนูได้ค้นพบเส้นทางชีวิตที่ทำให้หนูมีความสุข รวมถึงความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่จากโครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ที่ช่วยกรุยทางสู่การเป็นพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไปในอนาคต"
โครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ได้ช่วยสนับสนุนให้สถาบันพระบรมราชชนกจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนผ่านบทบาทหน้าที่ของพยาบาลซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit