ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรคและภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยเสริมพลังในการพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์ให้เข้มแข็ง ทั้งด้านการศึกษาวิจัย พัฒนาและกำหนดมาตรฐานทางวิชาการและเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านป้องกันควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ทั้งตอบสนองการส่งเสริมประเทศไทยก้าวเป็น ฮับการแพทย์ (Medical Hub) ของภูมิภาคอาเซียน
เทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Bio-Medical Engineering) เป็นวิชาชีพที่มีความต้องการในตลาดสูงทั่วโลกและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการศึกษาวิเคราะห์ออกแบบอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2550 มาถึงปัจจุบัน ผลิตวิศวกรชีวการแพทย์ที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท นานาชาติ และปริญญาเอก นานาชาติ ภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย มีคณะแพทยศาสตร์ ถึง 3 คณะ และมีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ถึง 4 แห่ง
รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายงานวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวหน้าด้วยการใช้พหุศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงในการวิจัย ออกแบบ พัฒนาผลิตระบบและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สร้างประโยชน์ต่อวงการแพทย์ สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน แบ่งเป็นหลายประเภท เช่น 1. การเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์ การวินิจฉัยโรค และการปรับปรุงการสร้างเครื่องมือทาง การแพทย์ 2. วิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบนำส่งยา บนพื้นฐานของการใช้โพลิเมอร์นำส่งยารักษาโรคมะเร็งได้อย่างมี ประสิทธิภาพ 3. การประมวลผลชั้นสูงในการแพทย์ เช่น การพัฒนาระบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของสรีรวิทยาของมนุษย์การแสดงผลภาพและการประมวลผลภาพทางการแพทย์ การจัดระบบประมวลผลแบบคลาวด์ทางการแพทย์ (Medical Cloud Computing) และโทรเวช เป็นต้น และ 4. วิศวกรรมฟื้นฟูและอวัยวะประดิษฐ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit