น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับให้มีศักยภาพในการทำการค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรม คือ การร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาธุรกิจและสินค้าท้องถิ่น ให้สามารถยกระดับมาตรฐานและคุณค่าของสินค้าให้มีคุณภาพเทียบเท่าสากลได้ สอดคล้องกับนโยบาย Local to Global ของรัฐบาลที่ต้องการให้เศรษฐกิจมีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง และมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและการค้ายุคใหม่ที่สามารถเติบโตได้อย่างไร้ขีดจำกัด
โดยภายใต้นโยบายดังกล่าวได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เป็นผู้ดำเนินภารกิจเสริมสร้างและแบ่งปันองค์ความรู้ให้เข้าถึงผู้ประกอบการทุกระดับ ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ เปรียบเสมือนศูนย์กลางในการกระจายองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ และสอดรับกับแนวคิด "เศรษฐกิจแบ่งปัน" (Sharing Economy) ที่มุ่งหวังให้ผู้ที่เก่งและมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ได้แชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ แชร์เครือข่าย ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้เข้าถึงมากที่สุด ตลอดจนมุ่งแบ่งปันความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ และช่องทางการส่งออกสินค้าและบริการ เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีความเป็นสากลและพร้อมที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น ด้าน นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า ล่าสุดสถาบันฯ ได้จัดโครงการสัมมนา "ติวเข้ม...รู้ลึก รู้จริง รู้ใจเวียดนาม" ขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ และมองเห็นถึงตลาดการค้าต่างประเทศที่มีศักยภาพนอกเหนือจากตลาดเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ พร้อมช่วยให้การกระจายสินค้าและบริการมีช่องทางที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว ได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ทำการค้าในประเทศเวียดนาม ตามรายหัวเมืองต่างๆ อาทิ จังหวัดเกิ่นเทอ มาร่วมแบ่งปันเทคนิคและประสบการณ์ที่น่าสนใจรวมถึงที่ปรึกษาเกี่ยวกับด้านการจดเครื่องหมายการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และกฎระเบียบต่างๆที่จำเป็นหากต้องการนำสินค้าส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาในหัวข้อต่างๆ อาทิ โอกาสทางธุรกิจในพื้นที่กลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ข้อมูลเชิงลึกด้านความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคในเวียดนาม ทิศทางและแนวโน้มทางการเงินการธนาคารในเวียดนาม ซึ่งมั่นใจว่ากิจกรรมนี้จะเป็นเสมือนแผนที่นำทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการส่งออกสินค้าในตลาดที่มีศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการจัดการทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ประเทศเวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นตลาดเกิดใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT) ที่ต่างประเทศให้ความสนใจในการทำการค้าและการลงทุน และมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับการค้าระหว่างไทย - เวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปี2562 มีมูลค่า 7,399.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกไปเวียดนามที่ 5,063 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามอยู่ที่ 2,336 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดย 10 สินค้าหลักที่เวียดนามนำเข้าจากไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ได้แก่ รถยนต์ทุกชนิด เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผักผลไม้ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ วัตถุดิบพลาสติก ส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันทุกประเภท สารเคมี และวัตถุดิบสิ่งทอและเครื่องหนัง นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ในปีที่ผ่านมา ช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้าออนไลน์ กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในทั้งเขตเมืองและชนบท เนื่องจากไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และวิถีชีวิตที่เริ่มมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้นของผู้บริโภคชาวเวียดนาม
สามารถติดตามโครงการฝึกอบรมและสัมมนาของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ nea.ditp.go.th และที่ www.facebook.com/nea.ditp.go.th หรือ สายด่วน 1169
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit