การดำเนินการโครงการดังกล่าว สศก. จะเป็นผู้สนับสนุนงานด้านวิชาการ อาทิ การจัดทำกรอบบัญชีตัวอย่าง เพื่อการสำรวจ กำหนดระเบียบวิธีการสำรวจ ตลอดจนการประมวลผลปริมาณการผลิตและต้นทุนการผลิต ในขณะที่ กยท. จะสนับสนุนงานด้านกำลังพล เพื่อลงพื้นที่ โดยการสำรวจทาง กยท. จะรับผิดชอบพื้นที่ 45 จังหวัด (ตามพื้นที่ตั้งสาขาของการยางแห่งประเทศไทย) เพื่อสำรวจปริมาณการผลิต 10,944 ครัวเรือนตัวอย่าง (1,824 หมู่บ้าน) และสำรวจต้นทุนการผลิตยางพารา จำนวน 5,460 ครัวเรือนตัวอย่าง และ สศก. จะลงพื้นที่รับผิดชอบพื้นที่ 32 จังหวัด ในการสำรวจปริมาณการผลิต 8,946 ครัวเรือนตัวอย่าง (1,491 หมู่บ้าน)
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการลงพื้นที่ สศก. ได้เตรียมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการรวม 7 ครั้ง (ครั้งละ 3 วัน) ให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สศก. และ กยท. รวมประมาณ 300 คน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจก่อนการสำรวจข้อมูลปริมาณการผลิตและต้นทุนการผลิตยางพารา โดยกำหนดแผนการอบรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2562 ณ สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยสาขาต่างๆ ได้แก่ จังหวัดตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก ระยอง อุดรธานี และ บุรีรัมย์
ทั้งนี้ ภายหลังการสำรวจเสร็จสิ้น สศก. จะดำเนินการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลตามหลักวิชาการทางสถิติและเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณการผลิตและต้นทุนการผลิตยางพาราที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562 และจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะทำงานจัดทำต้นทุนการผลิตยางฯ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ได้จาการสำรวจร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย รวมถึงมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราของไทย เช่น การกำหนดราคารับซื้อยางพาราที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ เป็นต้น
โอกาสนี้ สศก. จึงขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการสำรวจครั้งนี้ด้วย และหากเกษตรกรหรือผู้สนใจรายละเอียดของการดำเนินโครงการ หรือข้อมูลสถานการณ์ การผลิต และราคา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารสนเทศการผลิตพืชสวน ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทรศัพท์ 029405407 หรือ อีเมล [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit