1. สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
สำหรับสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากกรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน แต่เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถขยายตัวได้จากการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ทำให้เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถรองรับจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคณะผู้แทนฯ เห็นว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องมาจากมีความชัดเจนทางการเมืองและการลงทุนภาครัฐที่เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทั้งนี้ ประเทศไทยควรเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดได้อีกที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่างๆ ชะลอตัวลง
2.การดำเนินนโยบายการคลัง
คณะผู้แทนฯ ได้แสดงความชื่นชมต่อการดำเนินนโยบายการคลังของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปฏิรูปการคลัง เช่น การออกกฎหมายพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพื่อกำหนดกรอบวินัยทางการเงินการคลังของประเทศไทยเป็นต้น และในการพัฒนากฎหมายต่าง ๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสของภาครัฐและป้องกันการทุจริต
ในขณะเดียวกัน คณะผู้แทนฯ สนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยแนะนำให้ประเทศไทยควรมีการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)และสนับสนุนการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย(Targeted Social Welfare Policy) โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์จำนวนกว่า 14.6 ล้านคน รวมทั้งควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนด้านการศึกษา การสาธารณสุข และการให้โอกาสทางเศรษฐกิจที่เสมอภาคแก่ประชาชนเป็นสำคัญทั้งนี้ คณะผู้แทนฯ เชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่างๆนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวต่อคณะผู้แทนฯ ว่าการดำเนินนโยบายการคลังของไทยในระยะต่อจากนี้ไปจะสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการ EEC รวมทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งระบบรถไฟถนน ท่าเรือ และสนามบินต่าง ๆซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสามารถดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเน้นการปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวมและพัฒนาระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้นและจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจSMEs และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงงานแห่งอนาคตที่มีทักษะขั้นสูงเพื่อรองรับความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ต่อไป
HTML::image(