เมื่อขนาดของธุรกิจไม่สำคัญเท่าความเข้มแข็งของ Ecosystem ในยุค Digital

23 Jul 2019
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจน้อยใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม หรืออุตสาหกรรมในยุคใหม่ เช่น โทรคมนาคม ล้วนได้พบเจอกับการถูกท้าทายและ Disrupt จากการเข้ามาของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งส่งผลให้กิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะการแข่งขันและข้อได้เปรียบทางธุรกิจ จากที่เคยสามารถยึดหลักปลาใหญ่กินปลาเล็กที่แข่งขันกันด้วยต้นทุนและ Economies of scale หรือ หลักการของปลาเร็วกินกินปลาช้าที่แข่งขันกันด้วยความคล่องตัวและการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการ กลับกลายต้องมาเผชิญกับภาวะ frenemy หรือ มิตรก็ไม่ใช่ ศัตรูก็ไม่เชิง ที่ธุรกิจทั้งในและนอกอุตสาหกรรม ต้องหันมาสร้าง Ecosystem ทางธุรกิจร่วมกัน เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งรูปแบบที่เป็นพันธมิตรถาวรหรือชั่วคราว และในบางครั้งธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกันใน Ecosystem หนึ่ง อาจเป็นคู่แข่งกันใน Ecosystem ในตลาดอื่นก็เป็นได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการ Digitalization ขึ้นในหลายๆอุตสาหกรรมและหลายๆ Ecosystem
เมื่อขนาดของธุรกิจไม่สำคัญเท่าความเข้มแข็งของ Ecosystem ในยุค Digital

ทั้งนี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Ecosystem ที่กำลังพูดอยู่นี้คืออะไร และการเข้ามาของ Digital มีบทบาทอย่างไร โดยหากมองในภาพใหญ่ของรูปแบบธุรกิจจะหมายถึง Business Ecosystem หรือองค์ประกอบของธุรกิจในตลาด ที่โดยพื้นฐานแล้วประกอบไปด้วย ผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้าหรือบริการ ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และช่องทางในการจัดจำหน่าย ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละส่วนประกอบนี้ล้วนมีบทบาทที่แยกจากกันชัดเจน อย่างไรก็ดี การเข้ามาของ Digital Platform ซึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นพันธมิตรตัวกลางในการเชื่อมต่อหลายบทบาท หลายระบบ หลายภาคส่วน เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างการเข้าถึงสินค้าและบริการ รวมถึงการเข้าถึงตลาด ให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นรูปแบบของ Digital Ecosystem ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและข้อกังวลให้กับผู้ประกอบธุรกิจดั้งเดิม เนื่องจาก Digital Platform ขนาดใหญ่ที่มีการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อการใช้

ชีวิตของผู้คนสูง และเป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิด Transaction ได้ในคราวเดียว ย่อมมีโอกาสสูงในการต่อยอดเข้ามาแข่งขันในธุรกิจเกี่ยวข้องใน Ecosystem ได้ เนื่องจากสามารถผันตัวไปเป็นจุดศูนย์กลางของ Digital Ecosystem โดยง่าย เช่น การเชื่อมต่อหรือต่อยอดไปสู่ธุรกิจการกระจายสินค้า (Logistics) หรือ การสร้างระบบซื้อขายรวมไปถึงบริการทางการเงินบน Platform ซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งต่อธุรกิจดั้งเดิมในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคาร

ล่าสุด Social Media Platform ระดับโลกอย่าง Facebook ได้ออกมาประกาศถึงการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ด้านการเงิน โดยมีการออกสกุลเงินดิจิตัล (Cryptocurrency) ตระกูลใหม่ชื่อว่า Libra และเปิดตัวบริษัทย่อย Calibra ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการทางด้านการเงินให้กับสกุลเงิน Libra โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะพร้อมใช้งานและออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2563 สำหรับตัว Libra เองถือได้ว่าเป็น Digital currency ที่สร้างขึ้นบน Blockchain ที่ออกแบบมาให้มีความปลอดภัยและมีเสถียรภาพสูง หรือที่เรียกว่า Stable coin เนื่องจากมีการผูกค่า (pegged) กับหลากหลายสกุลเงินและหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งล้วนเป็น Investment Grade Asset ทำให้ราคามีความผันผวนต่ำกว่า Cryptocurrency อื่น เช่น Bitcoin และเป็นที่ยอมรับได้ในหลากหลายตลาด นอกจากนี้ Facebook ยังมีการสร้างความเข้มแข็งของ Ecosystem ผ่านความร่วมมือกับมากกว่า 28 บริษัท ซึ่งรวมไปถึง PayPal Visa Mastercard และยังใช้งานได้ผ่านหลากหลาย application ด้านการสื่อสาร เช่น WhatsApp และ Messenger จนนักวิเคราะห์บางสำนักถึงกับออกมาบอกว่า Libra อาจจะกลายเป็นสกุลเงินหลักได้ในอนาคต ผ่านการใช้งานบน Facebook ซึ่งมีประมาณ 2.4 พันล้าน MAUs (Monthly Active Users)

จะเห็นได้ว่าการเดินหมากครั้งนี้ของ Facebook เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันผ่านการต่อยอดจากการมี Digital Ecosystem ที่เข้มแข็ง ซึ่งมีทั้งการสะสมฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง การสร้างตลาด prosumer (ตลาดที่สามารถผลิตโดยผู้บริโภค หรือ ไม่สามารถแยกผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างชัดเจน) การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายและตัวกลางที่มีเสถียรภาพ รวมไปถึงการเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถดำเนินการด้านการตลาดได้ทั้งระดับ Mass และผ่าน Micro influencer (และยังสามารถขายและเก็บค่าโฆษณาจากกิจกรรมเหล่านี้ได้อีกด้วย) จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าการสร้าง Libra ในครั้งนี้ Facebook ไม่ได้มุ่งหวังรายได้จากการเก็งกำไร หากแต่เป็นการสร้างตัวแปรที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ Ecosystem และเพิ่มโอกาสในการเข้าไป Disrupt ในอุตสาหกรรมใหม่ได้มากขึ้น เช่น Education หรือ Healthcare ซึ่ง

เราอาจต้องรอดูกันต่อไปว่ากลยุทธ์ในครั้งนี้จะออกดอกออกผลตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี นับจากนี้การแข่งขันทางธุรกิจจะยิ่งไร้ขอบเขต จนทำให้รูปแบบการจัดทำกลยุทธ์ในการเติบโตธุรกิจ (Growth Strategy) มีการเปลี่ยนแปลงและไม่ยึดติดกับกรอบคิดที่ตายตัวอีกต่อไป หากแต่ต้องอาศัยความสามารถในการสังเกตช่องว่างของโอกาสและความยืดหยุ่นในการออกแบบรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เพราะต่อจากนี้คู่แข่งของคุณอาจจะไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมเดียวกับ คุณอีกต่อไปและบริษัทต้องพร้อมที่จะคอยปรับตัวอยู่เสมอ

บทความโดย นางสาวนันทพร ทับทิมไพโรจน์, Project manager at Sasin Management Consulting (SMC) Sasin School of Management ( สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit