มูลค่าการส่งออกไทยเดือน มิ.ย. 2019 โดยรวมหดตัวที่ -2.1%YOY แต่หากหักทองคำ การส่งออกหดตัวถึง -8.7%YOY (จากการส่งออกทองคำเดือน มิ.ย. ขยายตัวในระดับสูงถึง 317.4%YOY) โดยหากไม่รวมการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ -4.4%YOY
มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -9.4%YOY จากการหดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวถึง -18.8%YOY ขณะที่ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบก็มีการหดตัวเช่นกันที่ -11.3%YOY และ -5.2%YOY ตามลำดับ ซึ่งจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ยังต่ำกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
Implication
การส่งออกของไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาค (รูปที่ 1) โดยมูลค่าการส่งออกของหลายประเทศมีการหดตัวต่อเนื่องและหากพิจารณาอัตราการการขยายตัวของมูลค่าส่งออกในเดือน มิ.ย. พบว่า ในหลายประเทศ การส่งออกมีทิศทางหดตัวมากขึ้นจากตัวเลขในเดือน พ.ค. ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสงครามการค้าที่ยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเดือน มิ.ย. เป็นเดือนแรกที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย. เมื่อหักผลจากการส่งออกทองคำพบว่า มีทิศทางหดตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นอีไอซีประเมินว่า สถานการณ์ส่งออกทั้งของไทยและของหลายประเทศผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว
คงมุมมองส่งออกปี 2019 หดตัว -1.6% โดยการส่งออกอาจหดตัวได้มากถึง -3.1% ในกรณีเลวร้ายที่สุด จากตัวเลขการส่งออกครึ่งปีแรกที่หดตัว -4.4%YOY (ไม่รวมการส่งกลับอาวุธ) อีไอซีประเมินว่า ยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับประมาณการที่คาดไว้ล่าสุด (อ่านต่อได้ในบทความ Outlook ไตรมาส 3/2019 https://www.scbeic.com/th/detail/product/6115) โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี แม้การส่งออกจะไม่ได้มีสถานการณ์ดีขึ้น แต่จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ที่ภาวะสงครามการค้าได้เริ่มส่งผลกระทบ จึงทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปี 2019 มีแนวโน้มหดตัวที่ -1.6% (เทียบกับตัวเลข Consensus (Asia Pacific Consensus Forecast, survey date: July, 8 2019) ที่มีคาดการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 0.2%) อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์สงครามการค้าหลังการประชุม G20 เมื่อปลายเดือน มิ.ย. จะปรับตัวดีขึ้นบ้าง จากการที่จีนและสหรัฐฯ ได้ตกลงกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง และไม่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติม แต่อีไอซีคาดว่า ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจึงได้จัดทำการวิเคราะห์ในกรณีต่าง ๆ (ตารางที่ 1) ซึ่งในกรณีฐานมีสมมติฐานว่าสถานการณ์ด้านสงครามการค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน แต่หากสถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้น โดยสมมติให้สหรัฐฯ มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสินค้าจีนมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยปี 2019 หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -2.3% ขณะที่ ในกรณีเลวร้ายที่สุด คือสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่ 25% ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยปี 2019 หดตัวได้มากถึง -3.1% (อ่านรายละเอียดด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจในกรณีต่าง ๆ ได้ที่ Outlook ไตรมาส 3/2019)
การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง มีแนวโน้มทำให้ GDP ไตรมาส 2/2019 ชะลอตัวจากไตรมาสแรก โดยหากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ (และหักผลของการส่งกลับอาวุธเดือน ก.พ.) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ส่งผลต่อ GDP โดยตรง พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองมีการหดตัวเท่ากันที่ -5.3%YOY สะท้อนว่าสถานการณ์ด้านส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ยังไม่มีทิศทางดีขึ้นจากไตรมาสแรก
อย่างไรก็ดี การหดตัวที่ต่อเนื่องของภาคส่งออกได้เริ่มกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การชะลอลงของภาคท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน จึงทำให้คาดว่า GDP ไตรมาสที่ 2 จะมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8%YOY ทั้งนี้อีไอซียังคงมุมมองอัตราการขยายตัวของ 2019 GDP ที่ 3.1%
ความเสี่ยงด้านบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับสมมติฐานของแรงกระตุ้นจากภาครัฐในกรณีฐานของอีไอซีนั้น เราประเมินว่าจะมีแรงกระตุ้นเพิ่มเติม 2 หมื่นล้านบาท (จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ภายใต้งบกลาง 8 หมื่นล้านบาท) ในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าคาด แรงกระตุ้นนี้อาจเป็นความเสี่ยงเชิงบวกต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2019 โดยจากการประมาณการของอีไอซีพบว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคขนาด 3 หมื่นล้านบาทจะทำให้ 2019 GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.1 percentage point
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit