ทุกวันนี้ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังตื่นตัวอย่างมากในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องด้วยหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมและการผลิต อุตสาหกรรมการบินถูกยกให้เป็นอุตสาหกรรมหลักเพื่อการพัฒนาประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างสิงคโปร์ที่กำหนดแผนงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่ประเทศไทยกำหนดให้เป็นหนึ่งในห้าอุตสาหกรรมอนาคตหรือ New S-Curve
จากรายงานของแมคคินซี แอนด์ คอมพานี เรื่อง "อุตสาหกรรม 4.0: การรักษาสถานะอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต" ระบุว่าการพัฒนาของอุตสาหกรรมยุค 4.0 สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ได้ถึง 627 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน ของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานทั่วโลกมีมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 17% เป็นอันดับสามรองจากอเมริกาเหนือ (35%) และยุโรปตะวันตก (22%) ตามลำดับ
รายงานฉบับเดียวกัน เผยคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอากาศยานในเอเชียแปซิฟิคระหว่างปี 2558-2567 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 167 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 722 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปี 2558 จะขยายตัวถึง 10.6 พันล้านเหรีญสหรัฐฯ ในปี 2567 คิดเป็นการเติบโตกว่า 6%
และคาดการณ์ความต้องการเครื่องบินใหม่ทั่วโลกระหว่างปี 2559-2578 จะมีความต้องการรวมที่ 39,620 ลำ โดยที่ภูมิภาคเอเชียจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่สูงที่สุด 15,130 ลำ คิดเป็นร้อยละ 38 ของสัดส่วนเครื่องบินที่มีความต้องการทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว
ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการเดินทางทางอากาศของการท่าอากาศยานไทย (แบ่งเป็นข้อมูลการจราจรทางอากาศรวมทั้งหมดกับการจราจรทางอากาศของสายการบินต้นทุนต่ำ) ในปี 2561 พบว่าสนามบินนานาชาติทั้ง 6 แห่งของไทย ประกอบด้วยสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ตและเชียงราย มีจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมกันทั้งปีเกือบ 9 แสนเที่ยวบิน (โตขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน) มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งชาวไทยและต่างชาติ จำนวนกว่า 140 ล้านคน (โตขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน) สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำก็มีการเติบโตมากขึ้น โดยมีจำนวนเที่ยวบินทั้งปี 4 แสนกว่าเที่ยวบิน (โตขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน) และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปีเกือบ 70 ล้านคน (โตขึ้นเกือบ 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน) แสดงให้เห็นการเติบโตของธุรกิจการบิน เมื่อมีจำนวนเที่ยวบินเข้ามามากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดความต้องการช่างเทคนิค วิศวกรรมในการบำรุงรักษาเครื่องบินมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ "ช่างเทคนิควิศวกรรมหรือช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน" นับเป็นอีกหนึ่งสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก จากข้อมูล Pilot & Technician Outlook 2019-2038 โดยบริษัทโบอิ้งได้คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปี ทั่วโลกจะมีความต้องการช่างเทคนิคด้านอากาศยานอีกกว่า 769,000 คน โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งเดียวมีสัดส่วนความต้องการถึง 35% ของความต้องการรวมทั่วโลก นั่นแปลว่า "โอกาส" สำหรับคนที่ต้องการเติบโตในสายนี้ยังมีอีกมากมาย ขอเพียงให้มี "ทักษะ" ที่เหมาะสม โรลส์-รอยซ์ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้าน MRO และอุตสาหกรรมการบิน ขอแนะนำ 4 ทักษะสำคัญที่ช่างเทคนิควิศวกรรมยุคนี้ต้องมี ซึ่งประกอบด้วยทักษะด้านความรู้ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft skills) ดังนี้
1. ทักษะด้านดิจิทัล
เป็นทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการสื่อสาร การปฏิบัติงานและการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นับเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งการมีทักษะด้านนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ช่างเทคนิควิศวกรรมให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โรลส์-รอยซ์ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานทั้งด้านการผลิตและซ่อมบำรุง อย่างการใช้แบบจำลอง (Model) กระตุ้นการทำงานของเครื่องยนต์เครื่องบิน เพื่อการทดสอบภาวะวิกฤติที่เครื่องยนต์สามารถรับได้ (Stress-Test) ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับช่างผู้ทำการทดสอบ หรือการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อติดตามการทำงานของเครื่องยนต์เครื่องบินเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการใช้บิ๊กเดต้าในการตรวจหาข้อบกพร่องและลดข้อผิดพลาดจากการทำงานของคนในกระบวนการผลิตและซ่อมบำรุงอีกด้วย
2. ทักษะด้านเครื่องจักรกล
การทำงานซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เครื่องบิน จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะด้านเทคนิคและวิศวกรรมเครื่องกลเข้ามาเกี่ยวข้อง และด้วยความแตกต่างของเครื่องยนต์เครื่องบินแต่ละรุ่นและยี่ห้อ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันจึงต้องมีการใช้เครื่องมือกลพิเศษ (Special Tools) ที่ออกแบบมาเพื่อใช้เฉพาะตัว นอกจากนี้การเติบโตของเทคโนโลยีและการคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก ก่อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ขณะเดียวกันช่างเทคนิควิศวกรรมก็ต้องหมั่นเพิ่มเติมความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัยของเครื่องยนต์
โรลส์-รอยซ์เองมีการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ เช่น การใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ที่มีความแม่นยำพิเศษในการวัดขนาดใบพัดเครื่องยนต์ เพราะขนาดของใบพัดแต่ละใบมีผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์อย่างมาก มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ผลิตเครื่องยนต์ให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น เช่น กราฟีน (Graphene) และเซรามิกแบบใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการนำหุ่นยนต์ขนาดเล็กเข้ามาใช้ในกระบวนการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ (SWARM Robot) โดยที่ไม่ต้องถอดประกอบเครื่องยนต์และลดเวลาในการตรวจหาความผิดปกติด้วย
3. ทักษะด้านไฟฟ้า
เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญสำหรับช่างเทคนิควิศวกรรมในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องบิน นอกจากระบบไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องโดยทั่วไปแล้ว ในอนาคตเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุคของการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและระบบพลังงานใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้การที่สังคมทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างที่ได้มีการเปิดตัวเครื่องบินไฟฟ้าเมื่อไม่นานมานี้ จึงยิ่งเพิ่มโอกาสที่ช่างเทคนิควิศวกรรม ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบำรุงรักษาเครื่องบิน จะได้ใช้และพัฒนาทักษะด้านไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นในอนาคต
โรลส์-รอยซ์ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงร่วมมือกับแอร์บัสและซีเมนส์ในการวิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานไฮบริด (E-Fan X Hybrid-Electric Technology) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
4. ทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft skills) โดยเฉพาะการสื่อสารและความมีวินัย
การสื่อสารเป็นอีกทักษะหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากในสายอาชีพนี้ โดยเฉพาะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาสากลของประเทศที่เป็นต้นกำเนิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี อย่างโรลส์-รอยซ์เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก ฉะนั้นช่างเทคนิควิศวกรรมจึงจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้เพื่อให้สามารถสื่อสาร อ่านคู่มือช่าง เขียนรายงานการซ่อมตามมาตรฐาน และสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
คุณฮิวจ์ วนิชประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "การจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ MRO ในภูมิภาค นอกจากต้องมีทักษะด้านความรู้และการสื่อสารตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การมีวินัยก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความปลอดภัย เพราะเรื่องเครื่องบินความปลอดภัยมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง คนที่มาเป็นช่างซ่อมจึงต้องมีวินัย โดยเริ่มจากใส่ใจในความปลอดภัยของตัวเองก่อน"
ขณะเดียวกัน คุณฮิวจ์ยังมองว่ารัฐบาลควรขยายหลักสูตรด้านวิศวกรรมการบิน และผลิตช่างเทคนิคด้านนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องเข้ามาลงทุนในส่วนนี้ เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือในอุตสาหกรรมการบินมีมูลค่าสูงกว่าพันล้านบาท หากจะซ่อมเครื่องยนต์ก็ควรได้ลองศึกษาจากเครื่องยนต์จริง โดยประสานงานกับสายการบินเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสและฝึกอบรมจากเครื่องบินจริงเพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานด้วย
ที่มาของข้อมูล
เกี่ยวกับโรลส์-รอยซ์
1. โรลส์-รอยซ์เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีที่นำเสนอโซลูชั่นที่สะอาด ปลอดภัยและแข่งขันได้เพื่อตอบสนองความต้องการในพลังงานที่สำคัญในโลก
2. โรลส์-รอยซ์ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากกว่า 150 ประเทศ ประกอบด้วยสายการบินมากกว่า 400 แห่งรวมลูกค้าประเภทเช่า กองทัพ 160 แห่ง กองทัพเรือ 70 แห่ง และลูกค้าด้านพลังงานและนิวเคลียร์อีกมากกว่า 5,000 ราย
3. มีรายได้พื้นฐานอยู่ที่ 15,000 ล้านปอนด์ต่อปี และในปี 2561 รายได้ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากการให้บริการหลังการขาย
4. ในปี 2561 โรลส์-รอยซ์ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาไป 1.4 พันล้านปอนด์ นอกจากนี้เรายังให้การ สนับสนุนเครือข่ายระดับโลก อันประกอบด้วยศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีประจำมหาวิทยาลัยจำนวน 29 แห่ง ซึ่งให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาด้านวิศวกรรมสำหรับโรลส์-รอยซ์
5. กลุ่มธุรกิจมีความมุ่งมั่นในการฝึกหัดงานและสรรหาพนักงานใหม่จากผู้จบการศึกษา และพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit