ประเด็นการชี้แจงผลกระทบจากการขึ้นภาษีน้ำตาล

01 Aug 2019
นายวีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊คถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษีน้ำตาล ว่าจะทำให้เอกชนหลายรายเปลี่ยนสูตรการผลิตสินค้า โดยใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งในอนาคตจะทำให้ความต้องการอ้อยที่นำมาใช้ผลิตน้ำตาลลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรกรรมอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย จนอาจนำไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทั้งนี้ โซเชียลมีเดียมีการนำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อเนื่อง

ปัจจุบันพบว่า ประชาชนไทยมีปัญหาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) อันเนื่องมาจากการบริโภคหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มที่มีความหวานซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูง ดังนั้น รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการบูรณาการร่วมกันทั้งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนพิจารณาออกมาตรการเป็นแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประโยชน์สูงสุด โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าปรับสูตรการผลิต และผลิตสินค้าเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีสัดส่วนของปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อปริมาตรเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร ภายในระยะเวลา 5-6 ปี มาตรการภาษีถูกนำมาใช้เพื่อลดการบริโภคปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มผ่านกลไกราคาโดยมีการประกาศใช้ภาษีตามปริมาณน้ำตาลในอัตราก้าวหน้าล่วงหน้าเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีระยะเวลาในการปรับตัวทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มาตรการภาษี เช่น การใช้ฉลาก GDA และ Healthier ChoicesLogo ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ สินค้าที่มีน้ำตาลสูงจะมีราคาแพงกว่าและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า ในขณะที่ภาษีความสามารถจะทำให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่ามีราคาถูกกว่าและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าอีกด้วย

สำหรับการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้น ภาครัฐมีหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่ดูแลถึงชนิดสารและปริมาณที่เหมาะสมในระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่สามารถเติมในเครื่องดื่มได้ ซึ่งต้องพิจารณาปริมาณที่เหมาะสมและดำเนินการควบคุมควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลกระทบจากภาษีความหวานต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลที่มีจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยของเกษตรกรนั้น ภาครัฐได้มีการพิจารณาอุปสงค์และอุปทานของอ้อยทั้งระบบเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โดยมีการวางแผนการเพิ่มมูลค่าตลาดทั้งในประเทศและการส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าของอ้อยโดยส่งเสริมให้นำไปใช้ในการผลิตสินค้าอื่น อาทิ เอทานอลเพื่อเป็นพลังงานในประเทศและการส่งออก เป็นต้น