นายไทวุฒิ ขัน
แก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุรถเครนโครงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารโรงแรม 7 ชั้น ล้มทับบ้านเรือนประชาชน ภายในซอย
โรงพยาบาลเจ้าพระยา ถนนบรมราชชนนี เขต
บางกอกน้อย ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้กับจุดก่อสร้าง ได้รับความเสียหาย 2 หลัง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 ราย ว่า สาเหตุที่รถเครนล้ม เนื่องจากพื้นดินในบริเวณตำแหน่งที่ตั้งรถเครน ไม่มีการปรับระดับดินให้เรียบและบดอัดให้แน่น ส่งผลให้ขาค้ำยันรถเครนเกิดการทรุดตัวและพลิกตะแคงขณะใช้งาน อย่างไรก็ตาม สำนักการโยธาได้มีมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง ประกอบด้วย 1) ให้ขุดดินเดิมออก แล้วถมทรายบดอัดให้แน่น พร้อมปูด้วยแผ่นเหล็กให้มีความมั่นคงแข็งแรง 2) กำชับเจ้าหน้าที่บังคับรถเครนให้รอบคอบและระมัดระวังในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการทำงาน 3) แจ้งผู้ดำเนินการก่อสร้าง ให้ตรวจสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างให้มีสภาพพร้อมใช้งานและมีความปลอดภัย และ 4) บ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายรวมทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ทางเจ้าของโครงการก่อสร้าง ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน เป็นหลักฐานว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหายทั้งหมด
รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น สำนักการโยธา ได้จัดประชุมคณะทำงานตรวจโครงการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุปั้นจั่นล้มในระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักงานควบคุมอาคาร กลุ่มเขต กรมโยธาธิการและผังเมือง สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย และมูลนิธินายช่างไทยใจอาสา ร่วมกันกำหนดแบบรายละเอียด สำหรับใช้ตรวจสอบความปลอดภัยของปั้นจั่นและอุปกรณ์ในการก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นแบบออกตรวจโครงการก่อสร้างที่มีการติดตั้งเครนทุกโครงการที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ