นักจิตวิทยาชี้ผ่านรายการรอลูกเลิกเรียน สังคมไทยยุค 4.0 พ่อแม่ต้องปรับตัวรับปัญหาลูกติดมือถือ วัยรุ่นเจอปัญหาเรื่องความก้าวร้าว

02 Aug 2019
ดำเนินการมาจนใกล้จบโครงการฯ แล้ว สำหรับรายการ "รอลูกเลิกเรียน" (After school) รายการทีวีออนไลน์ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท Toolmorrow ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสื่อออนไลน์เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคม โดยรายการดังกล่าวได้นำปัญหาจริงของครอบครัวไทยมานำเสนอแบบกึ่งเรียลลิตี้ มีการตั้งกล้องเก็บภาพของครอบครัวจริงในการแก้ ปัญหาระหว่างแม่และลูก โดยการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอด้านจิตวิทยา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ผ่านทาง Facebook : Toolmorrow และในเว็บไซต์ของ www.afterschoolonline.tv ซึ่งถ้าถามว่าสังคมไทยในปัจจุบันพ่อแม่ต้องเจอกับปัญหาอะไรที่หนักอกบ้าง คำตอบคงไม่พ้นเรื่องเรื่องลูกติดมือถือ ด้านวัยรุ่นกลับพบว่ามีปัญหาเรื่องความก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้ง 2 เรื่องจะมีวิธีการแก้ไขหรือรับมือกันอย่างไรบ้าง ต้องลองมาฟังคำแนะนำจากคุณหมอนักจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
นักจิตวิทยาชี้ผ่านรายการรอลูกเลิกเรียน สังคมไทยยุค 4.0 พ่อแม่ต้องปรับตัวรับปัญหาลูกติดมือถือ วัยรุ่นเจอปัญหาเรื่องความก้าวร้าว

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "จากผลการศึกษาโครงการวิจัยครอบครัวไทยในเขตเมือง ปี 2557 พบว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวในเมืองมีสัมพันธภาพน่าเป็นห่วง เนื่องจากขาดการปฏิสัมพันธ์ 60% ของครอบครัว มีการใช้อำนาจบังคับ ข่มขู่ 40% ของครอบครัวไม่ค่อยเล่าหรือไม่เล่าอะไรให้คนในครอบครัวฟัง 34% ของครอบครัวมีการทำร้ายร่างกาย 33% ของครอบครัวไม่ค่อยใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาและด่าทอ หยาบคาย ทำร้ายจิตใจ 11% ของครอบครัวไม่อยากวางเป้าหมายครอบครัวและไม่อยากทำกิจกรรมร่วมกัน และ 5% ของครอบครัวไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันเลย และจากการรับหน้าที่เป็นวิทยากรให้รายการรอลูกเลิกเรียน, เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งจากสายด่วนสุขภาพจิต (โทร 1323) ที่จัดทำโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่าเรื่องที่พ่อแม่จะกังวลเกี่ยว กับลูกมากที่สุดคือเรื่องติดมือถือ ติดเกม และในส่วนของลูกนั้น ปัญหาที่พบมากคือเรื่องความเครียด เรื่องเรียน การปรับตัว ความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในแต่ละครอบครัวจะมองไม่เหมือนกัน ถ้าเรามองว่าเป็นปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไข หรือมองว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วค่อยๆ แก้กันไป มันก็จะแก้กันได้ ซึ่งเป็นเรื่องของการปรับตัว พ่อแม่ลูกต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน นี่คือคำแนะนำแบบง่ายๆ ที่อยากให้ทุกครอบครัวปฎิบัติเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาเรื่องช่องว่างในครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำก็คือพ่อแม่ควรจะปรับ ตัวเองก่อน เพราะลูกมักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย เขายังสามารถได้ใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ไม่จำเป็นต้องพาลูกไปพบจิตแพทย์เสมอไป เพราะเรื่องบางเรื่อง อาจไม่ได้เป็นปัญหารุนแรงถึงขั้นจะต้องเดินทางไปพบแพทย์ เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับตัวเข้าหากันภายในครอบครัว

นอกจากนี้ในสังคมปัจจุบันเรามักจะพบกับปัญหาวัยรุ่นมีความก้าวร้าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวลงในโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ต่างๆ เรื่องมีสาเหตุที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยคือ 1.นิสัยส่วนตัวของเด็ก เช่น มีอารมณ์ร้อน ไม่ฟังใคร 2.ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา และการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหา หากในครอบครัวของเขาใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง ดังนั้นเขาจะเรียนรู้ได้อย่างไรว่าเวลาทะเลาะกับเพื่อน จะต้องใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการพูดคุยกันดีๆ ครอบครัวต้องสอนให้เขาควบคุมความโกรธ แก้ไขปัญหาชีวิตด้วยวิธีการที่เหมาะสม และรับฟังเวลาเขามีปัญหา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสอนให้เขาได้เข้าใจบุคคลอื่น ครอบครัวควรชื่นชมเขาหากเขาทำความดี แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่ใช่มีแต่คำดุด่า ว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียน ทำไมเรียนไม่เก่ง ทำไมพูดไม่เพราะ เป็นต้น รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ ที่ควรนำเสนอข่าวในด้านบวกด้วย เช่น ทำไมไม่เคยมีออกข่าวมาว่าเด็กทะเลาะตีกันแล้วหันไปหาทางออกด้วยการพูดจาทำความเข้าใจกันบ้าง เนื่องจากในปัจจุบันนี้สื่อต่างๆก็มีผลต่อวัยรุ่นด้วยเช่นกัน เมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยเรื่องราวแบบนี้ เขาไม่เคยเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยวิธีดีๆ ที่ถูกต้อง แล้วจะให้เขาเอาแบบอย่างที่ดีมาจากไหน"

พญ.วิมลรัตน์ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า "อาจกล่าวได้ว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะวัยรุ่นไทยขาดโอกาสในการฝึกฝนตนเองตั้งแต่เด็กว่าจะเอื้ออาทรกับคนอื่นหรือสังคมได้อย่างไร ในเมื่อเขาก็ไม่เคยได้รับ ดังนั้นการแก้ไขเรื่องความก้าวร้าวของวัยรุ่น ต้องแก้ไขในหลายจุด อาทิ การมีลูกเมื่อพร้อม, การให้ความรู้พ่อแม่ในเรื่องการเลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ, โรงเรียนมีระบบในการดูแลเด็กที่ดี, พ่อแม่ต้องมีการปรับตัวไปกับยุคดิจิตอล แต่สุดท้ายไมว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม พื้นฐานของความไว้ใจกันในครอบครัว ความรัก ความผูกพัน การที่รู้ว่าเมื่อไรที่เรามีปัญหา ครอบครัวยังคงเป็นเบื้องหลังที่สำคัญ ถึงแม้ว่าปัจจุบันสื่อออนไลน์ต่างๆจะช่วยให้หาข้อมูลวิธีการแก้ไขได้บ้าง แต่ปัญหาบางอย่างที่เป็นเรื่องร้ายแรงก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะในเรื่องความรู้สึกหรือความกังวล ซึ่งเขาก็ยังคงต้องการหรือพึ่งพาคนที่รู้สึกไว้ใจได้ซึ่งก็คือคนในครอบครัวนั่นเอง ดังนั้นการแก้ไขที่สำคัญคือเราต้องแก้ปัญหาภายในครอบครัว หรือลูกของเราก่อน การแก้ปัญหาในหนึ่งจุด จุดอื่นมันก็จะเปลี่ยน ในวงจรชีวิตคนเราถ้าไม่มีใครแก้ไขอะไรเลย สังคมมันก็เป็นแบบเดิมๆ ขอเพียงแค่เราเป็นกรวดชิ้นเล็กๆ วงล้ออันนี้เมื่อเจอกรวดมันก็จะเบี้ยวไปนิดหนึ่งแล้ว ดังนั้นถ้าเราปรับในครอบครัวที่เป็นส่วนที่เราจัดการได้ ต่างคนต่างจัดการของตัวเอง ทุกอย่างมันก็สามารถจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้"

สำหรับรายการ "รอลูกเลิกเรียน" (After school) รายการทีวีออนไลน์ ปัจจุบันได้ออกอากาศมาถึงตอนที่ 9 : ลูกใช้เงินฟุ่มเฟือย เมื่อลูกวัยรุ่นเห็นเพื่อนโพสต์ของที่ซื้อมาใหม่ ก็ต้องการไปซื้อของตามเพื่อน และขอให้พ่อแม่พาไปห้างสรรพสินค้าทุกอาทิตย์ พ่อแม่รู้สึกว่าลูกมีความอยากได้ของต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีความกังวลขึ้นมาว่าถ้าไม่มีเงินให้ลูกในอนาคต ลูกอาจจะคิดหาเงินในทางที่ผิด จนทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเริ่มตึงเครียด เกิดปัญหาด้านการสื่อสารภายในครอบครัว มาดูกันว่าจิตแพทย์จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ จะให้คำแนะนำและแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง และเมื่อชมรายการจบแล้วผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมโครงการฯ กับ สสส. โดยการเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ quiz.afterschoolonline.tv หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ Inbox ของ Facebook : Toolmorrow ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

HTML::image(