กอปภ.ก. ประสาน 9 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในช่วงวันที่ 10 – 11 ส.ค. 62

13 Aug 2019
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 10 - 11 ส.ค. 62 โดยให้ศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ในช่วง 1-2 วัน ที่ผ่านมา บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง รวมถึงประกาศกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า เนื่องจากฝนตกหนักทำให้ระดับน้ำในลำคลองเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น มีน้ำหลากและดินไหลในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ในช่วงวันที่ 10 – 11 สิงหาคม 2562 กอปภ.ก จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม 9 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน บริเวณอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอสบเมย น่าน บริเวณอำเภอบ่อเกลือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเวียงสา อำเภอเชียงกลาง อำเภอท่าวังผา อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น อำเภอปัว อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม และอำเภอสองแคว ตาก บริเวณอำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผาง กาญจนบุรี บริเวณอำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี อำเภอไทรโยค และอำเภอ บ่อพลอย จันทบุรี บริเวณอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอขลุง ตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเกาะช้าง ชุมพร บริเวณอำเภอเมืองชุมพร อำเภอละแม อำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอท่าแซะ ระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น และอำเภอกะเปอร์ และพังงา บริเวณอำเภอเมืองพังงา อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอคุระบุรี ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป