รมว.อุตฯ มอบนโยบายเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วย SME-คนตัวเล็ก

13 Aug 2019
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายการดำเนินงานให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กลุ่ม S-Curve ดันผู้ประกอบการ ภาคการผลิตใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำเอสเอ็มอี สู่ 4.0 สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมออก 3 มาตรการเร่งด่วน ดำเนินการภายใน 99 วันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรับมือวิกฤตภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรม
รมว.อุตฯ มอบนโยบายเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วย SME-คนตัวเล็ก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและก้าวทันกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง จึงได้มอบนโยบายให้ กสอ. เร่งดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) สร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตร (Agricultural Driven Economy) ซึ่งจะเน้นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตรหลักในแต่ละพื้นที่ พร้อมผลักดันสู่เกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 โดยมุ่งสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและมาตรการทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงการยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 การสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการนำวัตถุดิบที่ใช้แล้วกลับมาแปรรูปสร้างคุณค่าใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ ยังสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมให้มีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการค้า การลงทุน และการผลิตในประเทศ ขณะเดียวกันในด้านรูปแบบการทำงานต้องปรับแนวคิด โดยใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data System) เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ i-Industry ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภายในและภายนอกเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการมากขึ้น

นอกจากนี้ จากความผันผวนทางเศรษฐกิจและวิกฤติภัยแล้ง จึงได้มอบหมายให้ กสอ. กำหนดมาตรการสำคัญและเร่งด่วน คือ มาตรการสร้างโอกาสทางการตลาดและส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นการสร้างและขยายโอกาสทางการตลาดกับต่างประเทศ โดยจะมีการจัดงานครบรอบ 10 ปี ความร่วมมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับประเทศญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือ "Japan Desk" ในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ซึ่งจะจัดให้มีการทำ Business Matchingระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการนำเสนอให้มีกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังจะมีการจัดกิจกรรม Road Show โดยการเชิญชวนนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น นับเป็นแนวทางในการขยายการลงทุนและโอกาสทางการตลาด รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศไม่ให้ย้ายฐานการลงทุนและการผลิตไปจากประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมี มาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี ผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับอนุมัติสินเชื่อจากกองทุนแล้ว รวมกว่า 10,500 ราย เป็นวงเงินกว่า 15,000 ล้านบาท และยังมีคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนกว่า 580 ราย วงเงิน 3,500 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติให้ขยายเพิ่มวงเงินสินเชื่อกองทุนฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs-คนตัวเล็ก จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย จำนวน 5,000 ราย ต่อไป รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่ Big Brother ภายใต้โครงการ Innospace (Thailand) จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs กลุ่ม Startup อีกทั้งเพิ่มการส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ด้านการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เป้าหมายจำนวน 10,000 ราย และมาตรการสุดท้าย คือ มาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้ง ด้วยกลไกประชารัฐ ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างอุปกรณ์และภาชนะในการกักเก็บน้ำในระดับครัวเรือนและระดับชุมชนในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมาย 10,000 ครัวเรือนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ขอสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม จากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งการพักชำระหนี้และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้ง

"กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและวิกฤติภัยแล้ง ผลักดันมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการปรับปรุงฟื้นฟูและขยายการประกอบกิจการ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างโอกาสการลงทุนต่อไป โดยทั้ง 3 มาตรการนี้ มีกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 99 วัน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเอสเอ็มอี จำนวน 50,000 ราย โดยเน้นการยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม Startup และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลและการตลาด นำการส่งเสริม" นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้าย

รมว.อุตฯ มอบนโยบายเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วย SME-คนตัวเล็ก รมว.อุตฯ มอบนโยบายเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วย SME-คนตัวเล็ก รมว.อุตฯ มอบนโยบายเร่งด่วน กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วย SME-คนตัวเล็ก