การปรับตัวของเกษตรกร กับวิกฤติภัยแล้งในยุคปัจจุบัน

08 Aug 2019
ภัยแล้งกลางฤดูฝน ปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะที่บางพื้นที่ฝนตกหนัก น้ำท่วม หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้น สถานการณ์เหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศอย่างมาก รวมถึงอาหารที่บริโภคนั้นเป็นผลผลิตจากภาคเกษตรทั้งสิ้น
การปรับตัวของเกษตรกร กับวิกฤติภัยแล้งในยุคปัจจุบัน

จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าว เป็นที่มาของการจัดทำโครงการวิจัยการปรับตัวของการทำเกษตรกรรมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แม้จะดำเนินการแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ข้อค้นพบที่ได้สามารถใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงอื่นๆและเพื่อใช้วิเคราะห์ในการวางแผนป้องกันหรือหาแนวทางในการแก้ปัญหาล่วงหน้าได้ต่อไปเพราะในอีก 20 -30 ปีข้างหน้าพื้นที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้

โครงการวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามวัตถุประสงค์ คือ 1.การคำนวณค่าดัชนีความเปราะบางของการทำเกษตรกรรม (Agricultural Vulnerability Index : AVI) 2.ศึกษารูปแบบการปรับตัวของการทำเกษตรกรรม และ 3.กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบของการทำเกษตรกรรมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ได้แก่ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ซึ่งสามารถใช้ในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนได้ดี จึงนำมาสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับน้อยถึงมากที่สุด โดยพื้นที่ศึกษา ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

นายณรงค์ พลีรักษ์ อาจารย์จากคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้วิจัย กล่าวว่า " ที่เลือกทำโครงการนี้เพราะมองว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ climate change เป็นประเด็นที่สำคัญ ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากภูมิอากาศทั้งสิ้น เมื่อภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลประทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการท่องเที่ยว รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการน้ำเป็นหลัก เป็นที่มาที่เราต้องสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด"

สำหรับการคำนวณค่าดัชนีความเปราะบางของการทำเกษตรกรรม หรือค่า AVI นั้น มีปัจจัยที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อการสร้างแบบจำลองความเสี่ยง ได้แก่ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด ปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำในดิน จำนวนครั้งการเกิดอุทกภัย ดินโคลนถล่ม วาตภัย ภัยแล้ง ระยะห่างจากบ่อน้ำบาดาล และแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งผลที่ได้ทำให้ทราบถึงระดับความเปราะบางหรือความเสี่ยงของเกษตรกรที่เกิดจากปัจจัยทางด้านภูมิอากาศเป็นรายตำบล พบว่า ตำบลที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี , ตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง , ตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี และ ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

"และยังพบว่าทั้ง 4 ตำบล มีรูปแบบการปลูกพืชคล้ายคลึงกัน โดยพืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมันและผลไม้ และจากการสัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากกว่าโดยเฉพาะการปลูกผลไม้ที่ใช้น้ำในปริมาณมาก แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรได้มีการปรับตัวด้วยขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในฤดูร้อนเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ส่วนชาวนาในพื้นที่เช่นที่ตำบลบ้านค่ายก็มีการปรับตัวเช่นกัน เช่นเดิมปลูกข้าวสูงสุด 3 ครั้งต่อปี ทำนาปี 1 ครั้ง ทำนาปรัง 2 ครั้ง กรณีที่ปีไหนฝนตกน้อยก็จะชะลอหรือเลื่อนช่วงเวลาในการปลูกออกไป หรืออาจไม่ปลูกข้าวนาปี สวนนาปรังอาจอาศัยน้ำชลประทาน เป็นต้น ส่วนน้ำท่วมนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชมากนัก เพราะเป็นการเกิดน้ำท่วมเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ"

นายณรงค์ กล่าวต่อว่า "ผลการวิเคราะห์ที่ได้จะแสดงออกมาในรูปแผนที่ เช่น พื้นที่เสี่ยง ข้อมูลปริมาณน้ำฝน โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์เป็นรายปี ทำให้รู้ว่าแต่ละตำบลมีความเสี่ยงแค่ไหน โดยนำปัจจัยต่างๆ ที่ได้จากการสำรวจมาทำการวิเคราะห์รวมกัน และเลือกพื้นที่ความเสี่ยงเพื่อนำมาเป็นพื้นที่ทดลอง ข้อดีของข้อมูลที่เป็นเชิงพื้นที่ (spatial data) คือ สามารถแสดงในรูปของแผนที่ได้ ทำให้รู้ว่าแต่ละตำบลมีความเสี่ยงอยู่ตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้นข้อมูลทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นข้อมูลน้ำฝน ข้อมูลอากาศ ข้อมูลต่างๆ สามารถนำมาวิเคราะห์ในแผนที่นี้ได้ทั้งหมด จะทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ตรงไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย ตำบลไหนเสี่ยงมาก ตำบลไหนเสี่ยงน้อย นี่เป็นศาสตร์ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการทำงานวิจัย"

ผลงานวิจัยนี้นอกจากค้นพบความเสี่ยงรายพื้นที่แล้ว ผู้วิจัยยังได้เสนอมาตรการเพื่อลดผลกระทบของการทำการเกษตรกรรมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มี 3 มาตรการ คือ 1) การกำหนดปฏิทินการปลูกพืชตามปริมาณน้ำในดิน ได้แก่ ข้าว สับปะรด และมันสำปะหลัง 2) การเปลี่ยนชนิดพืชตามปริมาณน้ำฝนและชนิดของดิน โดยในการวิจัยนี้ได้เสนอการวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสบู่ดำและมะเยาหินซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชน้ำมันเหมือนกัน โดยปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสบู่ดำเท่ากับ 900-1,200 มิลลิเมตร/ปี และเหมาะกับการปลูกในดินร่วน พื้นที่ที่เหมาะสมพบใน 3 อำเภอของจังหวัดชลบุรี ได้แก่ อำเภอศรีราชา บางละมุง และสัตหีบ ส่วนปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกมะเยาหินเท่ากับ 640-1,730 มิลลิเมตร/ปี และชนิดดินควรเป็นดินทรายหรือดินร่วน พื้นที่ที่เหมาะสมส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรี บางส่วนในจังหวัดระยอง และพบเพียงเล็กน้อยในจังหวัดจันทบุรี 3) การเปลี่ยนอาชีพหรือการประกอบอาชีพเสริม ในงานวิจัยนี้เสนอให้มีการจัดการและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จากการรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเบื้องต้นของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนรวมทั้งสิ้น 142 แห่ง หากแต่ละชุมชนมีแนวคิดในการจัดการและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในการทำการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภัยพิบัติได้

HTML::image( HTML::image( HTML::image(