ในปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีหน้าที่รายงานพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศและตราสารอนุพันธ์ ของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นรายเดือนให้กับทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องส่งรายงานให้แก่ทั้ง 2 หน่วยงาน ก.ล.ต. ได้หารือกับ ธปท. และมีความเห็นร่วมกันว่า ธปท. จะใช้ข้อมูลดังกล่าวจากแบบรายงานที่กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำส่ง ก.ล.ต. แทนแบบรายงานการลงทุนในตราสารในต่างประเทศ (PIA)
ในการนี้ เพื่อให้แบบรายงานมีข้อมูลครบถ้วนและทดแทนแบบรายงาน PIA ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงแบบรายงานฯ เพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลที่จำเป็นครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อาทิ 1) รหัสประเทศของผู้ออกหลักทรัพย์ 2) ต้นทุนเฉลี่ยของหลักทรัพย์ในรูปสกุลเงินที่กองทุนไปลงทุนในต่างประเทศ 3) มูลค่าหน้าตั๋วของหลักทรัพย์ในรูปสกุลเงินที่กองทุนไปลงทุนในต่างประเทศ 4) มูลค่ายุติธรรมในรูปสกุลเงินที่กองทุนไปลงทุนในต่างประเทศ 5) notional value* ของตราสารอนุพันธ์ ในรูปสกุลเงินที่กองทุนไปลงทุนในต่างประเทศ และ 6) ผลกำไรขาดทุนจากการ mark to market** ในรูปสกุลเงินที่กองทุนไปลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=487 ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] จนถึงวันที่ 9 กันยายน 2562
*notional value คือ มูลค่าตามสัญญาของตราสารอนุพันธ์
**mark to market คือ การบันทึกมูลค่าทางบัญชีของตราสารทางการเงินตามมูลค่ายุติธรรม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit