แพทย์หญิงกรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนายการด้านการแพทย์และประธานทีมนำทางคลินิก โรงพยาบาล (รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้เช่น ความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ เป็นต้น ที่ร้ายแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้สินและผู้ที่กำลังประสบวิกฤติเรื่องเงิน จะมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น รายงานผลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี2560 พบว่าครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 26,946บาทต่อเดือน มีครัวเรือนที่มีหนี้สินจำนวน 10.8 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 50.7 ของจำนวนครัวเรือนที่มีทั้งหมดทั่วประเทศ 21 ล้านครัวเรือน หนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 178,994 บาท คิดเป็น 6.6 เท่าของรายได้ สูงสุดในกทม.และจ.นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เฉลี่ยมีหนี้ 219,505 บาทต่อครัวเรือน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหนี้เฉลี่ย 179,923 บาท ภาคใต้เฉลี่ย 170,177 บาท ภาคเหนือเฉลี่ย 167,952 บาท ต่ำสุดคือในภาคกลางมีหนี้เฉลี่ย 153,243 บาท จึงทำให้ประชาชนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานหาเงินเพื่อใช้หนี้และเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว อาจทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้ความสุขในชีวิตลดน้อยลงหรือขาดหายไป
"เป้าหมายสูงสุดของคนเรานั้นไม่ใช่เงินอำนาจชื่อเสียงหรือเกียรติยศ แต่คือความสุขที่อยู่ในจิตใจซึ่งจับต้องไม่ได้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีความสำคัญต่อชีวิตก็ตาม แต่เราไม่ควรให้เศรษฐกิจมีอิทธิพลสูงสุดมากำหนดความสุขของเรา และที่สำคัญเราไม่ควรล่ามความสุขไว้กับเศรษฐกิจหรือผูกติดกับเงิน เนื่องจากจะทำให้ความสุขเคลื่อนตามสิ่งนั้นไป"แพทย์หญิงกรองกาญจน์กล่าว แพทย์หญิงกรองกาญจน์ กล่าวต่อไปว่า วิธีการปลดพันธนาการให้ความสุขของเราเป็นอิสระและทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างเต็มที่ตามศักยภาพในขณะที่ยังมีภาระหนี้สินหรือในยามที่ประสบภาวะวิกฤติการเงิน มีข้อแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ 5 ประการ ดังนี้
ประการที่1. ดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ เนื่องจากร่างกายและจิตใจเป็นส่วนที่สัมพันธ์กัน หากร่างกายแข็งแรงจิตใจก็แจ่มใสไปด้วย โดยออกกำลังกายให้สม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ประการที่2. ให้พยายามปรับที่ความคิดความเชื่อของเรา เป็นตัวกำหนดความสุขว่ามีเงินน้อยไม่ได้หมายถึงมีความสุขน้อยเสมอไป เราต้องเชื่อว่าเงินกับความสุขไม่ได้สัมพันธ์กันตรงไปตรงมา แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ทั่วโลกเข้าใจว่าถ้ามีเงิน เราจะมีความสุข แต่ในระยะหลังๆมานี้เริ่มค้นพบและประจักษ์ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆว่า แม้ว่าเราจะมีเงินมากแค่ไหนก็ตาม ความสุขของคนเราก็ไม่ค่อยได้ขึ้นอยู่กับเงินเสมอไป
ประการที่3. ให้จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยจัดเวลาทำกิจกรรมที่มีความสุขง่ายๆในชีวิตประจำวันให้ตัวเอง เช่น เดินออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน การเล่นกับลูกๆ คุยกับคนรัก หรืออ่านหนังสือดีๆ จะช่วยผ่อนคลายได้ดีขึ้น
ประการที่ 4.ใช้วิธีการปรับใจ ทำใจให้รู้สึกว่าการเป็นหนี้สินไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตามว่าเป็นเรื่องท้าทาย และอย่ากลัวความลำบาก ขณะเดียวกันให้มองความยากลำบากให้เป็นความท้าทายและมีคุณค่าต่อชีวิต เพื่อให้เราก้าวไปสู่เป้าหมายคือการปลดหนี้ในที่สุด ให้สถานะครอบครัวในอนาคตมีความมั่นคง ก็จะสร้างความสุขให้ชีวิตได้ ซึ่งเรื่องนี้ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าความสุขเกี่ยวข้องกับความสบาย หรือเชื่อว่าชีวิตต้องสบายถึงมีความสุข มีผลการศึกษาเรื่องความสุขของมนุษย์เรา พบว่าความสุขที่เกิดจากการลงมือทำ มีความหมายมากกว่า
ประการที่5.ต้องดูแลความสุขในครอบครัวเพื่อให้ครอบครัวมีทั้งความมั่นคง มีความรัก ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลงานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า แหล่งความสุขที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวของเรา ซึ่งเรื่องนี้มีหลายคนคิดกลับกัน ไปเริ่มต้นที่การหาเงินก่อนแล้วเกิดผลกระทบกับครอบครัวตามมาทำให้แหล่งความสุขเสียไป แพทย์หญิงกรองกาญจน์กล่าวในตอนท้าย
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit