นางสุพรรณ กาญจนเจตนี รองอธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวถึงพันธกิจของสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งกำกับดูแลวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดทั้งสิ้น 30 วิทยาลัยทั่วประเทศ ว่า สถาบันฯ มีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาที่ชุมชนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากชุมชน ตลอดจนการคัดเลือกนักศึกษาจากชุมชน เพื่อผลิตบุคลากรที่พร้อมด้วยความรู้กลับไปรับใช้ชุมชนของพวกเขา รองรับความต้องการด้านสุขภาพของท้องถิ่นและระบบสุขภาพของประเทศ
"หลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันฯ ไม่เหมือนที่อื่น เราเน้นพัฒนาพยาบาลที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ให้การดูแลและรักผู้ป่วยราวกับเป็นคนในครอบครัว โดยเราให้ความสำคัญกับชุมชนมากเป็นพิเศษ และนักศึกษาจะใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มาก มีการจัดวิชาเรียนที่ต้องออกไปพบปะพูดคุย รับฟังปัญหา เสนอแนะทางออก และช่วยดูแลผู้ป่วยตามบ้านที่ตัวเองรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ชุมชน โดยจะต้องสร้างสรรค์รูปแบบของกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจและสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละชุมชน เพื่อให้เข้าถึงชาวบ้านมากที่สุด เรียกว่านอกจากจะมีความรู้ในเชิงวิชาการแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจชุมชนอย่างถ่องแท้ และมีความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ซึ่งทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การพัฒนาสุขภาพของผู้คนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นักศึกษาพยาบาลของเราจึงมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นคือ การให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์และดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยดุจญาติน้อง ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากนักศึกษาที่มีความสามารถและมุ่งมั่นตั้งใจอยากเป็นพยาบาลไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการศึกษา โครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน เข้ามาอุดรอยรั่วของของนักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเป็นโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2540 เพื่อมอบทุนการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ปีหนึ่งจนถึงเรียนจบ ให้แก่นักศึกษาพยาบาลที่ผ่านการคัดเลือกจากทางวิทยาลัย ที่ผ่านมา ได้ช่วยให้นักศึกษาพยาบาลสำเร็จการศึกษาไปแล้วมากกว่า 600 คน เพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้คนในชุมชนบ้านเกิดของพวกเขาทั่วประเทศ" นางสุพรรณกล่าว
อาจารย์สุชาดา เจะดอเลาะ อาจารย์ผู้รับผิดชอบงานทุนการศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา กล่าวว่า โครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ได้เข้ามาเติมเต็มความต้องการของนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งนี้ นักศึกษาที่ได้รับทุนฯ จะต้องผ่านการคัดเลือกที่เข้มงวด ทั้งด้านสถานภาพของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน ต้องมีผลการเรียนที่ดี มีความมุ่งมั่นในการเป็นพยาบาลเพื่อรับใช้ชุมชน และมีความประพฤติเรียบร้อย
สำหรับจุดเด่นของการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ อาจารย์สุชาดาเล่าว่า "สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ เรามุ่งสอนให้นักศึกษาพยาบาลดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ คือมีความจริงใจ เอื้ออาทร เข้าใจ และเสียสละอย่างเต็มที่ เพราะพยาบาลที่ทำงานในชุมชนจะมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมาก ผู้ป่วยหลายคนไม่สามารถเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ ก็ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ นอกจากนี้ เนื่องจากพื้นที่ของเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราจึงมุ่งเน้นให้นักศึกษาดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนไทยพุทธ ชุมชนไทยมุสลิม หรือชุมชนไทยจีน โดยนักศึกษาต้องยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง พยายามเรียนรู้และเข้าใจถึงความแตกต่าง และเลือกกิจกรรมการพยาบาลที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้ป่วย"
นางสาวณิศรินทร์ กิจจารักษ์ หรือน้องนาดา นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา เล่าว่า เธอเป็นชาวนครศรีธรรมราช ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนยางพารา จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอก้าวสู่อาชีพพยาบาลเกิดขึ้นตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้น ป.5 เธอไปโรงพยาบาลเป็นเพื่อนคุณแม่ ทำให้ได้เจอกับพี่พยาบาลที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย และดูแลช่วยเหลือคุณแม่อย่างดี เธอประทับใจในความเอาใจใส่และความเป็นมืออาชีพของพยาบาลท่านนั้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเป็นนางพยาบาลเพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้อื่น และได้ถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องให้กับผู้คน เพื่อช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น
"หนูทำตามความฝันสำเร็จไปก้าวหนึ่งแล้ว โดยได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา และยังได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน ซึ่งหนูรู้สึกดีใจมาก เพราะได้ช่วยผ่อนภาระค่าใช้จ่ายของที่บ้าน และเป็นหลักประกันได้ว่า หนูจะสามารถเรียนจนจบและเป็นพยาบาลตามความฝันได้อย่างแน่นอน หลังจากเรียนจบ หนูตั้งใจจะไปทำงานที่โรงพยาบาลในบ้านเกิดที่นครศรีธรรมราช โดยอยากช่วยแนะนำความรู้ด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกต้องให้แก่คนในชุมชน หนูหวังว่า การทำงานที่มุ่งมั่นของหนูจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลประโยชน์มากที่สุด และช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งอาจารย์ปลูกฝังพวกเราว่า ให้ทำงานด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์ คือช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ด้วยความจริงใจ เอาใจใส่ และทำให้สุดความสามารถ เพราะเมื่อเราทำออกมาด้วยความจริงใจและพยายามอย่างเต็มที่ เราก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง ในขณะที่ผู้ป่วยก็จะได้รับบริการที่ดีที่สุด ซึ่งหนูเชื่อว่าเขาสามารถสัมผัสถึงความจริงใจและความตั้งใจของเราได้"
เมื่อพยาบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุขมุ่งเป้าในการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ จะทำให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้รับความสุข และยังส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit