สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 29 ก.ค.- 2 ส.ค. 62 และคาดการณ์วันที่ 5-9 ส.ค. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

06 Aug 2019
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
  • ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ ประกาศปรับภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 10% มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3 แสนล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย. 62 พร้อมกันนี้ นาย Trump ยังตำหนิที่จีนไม่สั่งซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากสหรัฐฯ ตามที่รับปากไว้ ทั้งนี้การเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน วันที่ 30-31 ก.ค. 62 มีผลคืบหน้าเพียงเล็กน้อย
  • นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ นาย Boris Johnson ประกาศว่าสหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ต.ค. 62 แบบไร้ข้อตกลง (No Deal) หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ล่าสุด ธนาคารกลางของสหราชอาณาจักร (BoE) ปรับประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี พ.ศ. 2562 และปี พ.ศ. 2563 ทั้งสองปี เติบโตที่ระดับ 1.3% ต่อปี ลดลงจากประเมินครั้งก่อน 0.2% และ 0.3% ตามลำดับ โดยตั้งสมมติฐานว่า สหราชอาณาจักรสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับ EU ก่อนเส้นตายการแยกตัว Brexit ในวันที่ 31 ต.ค. 62
  • บริษัท EPIC Midstream Holdings ผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันดิบทางท่อของสหรัฐฯ ประกาศท่อขนส่ง EPIC Crude Oil (กำลังสูบถ่าย 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ความยาว 1,175 กม.จะเริ่มสูบถ่ายน้ำมันดิบจากแหล่ง Permian ใน West Texas และ New Mexico ไปยังฝั่งอ่าว (US Gulf Coast) ที่เมือง Corpus Christi ในรัฐ Texas
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 11,204 สัญญา มาอยู่ที่ 160,922 สัญญา

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • วันที่ 31 ก.ค. 62 ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (U.S. Federal Reserve - Fed) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.00% - 2.25% เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำ โดยแสดงความพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหากจำเป็น
  • สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียด รัฐบาลอังกฤษได้ส่งเรือรบ Type 45 เข้าคุ้มกันกองเรือพาณิชย์ของอังกฤษในบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ และเกาหลีใต้ส่งหน่วยปราบปรามโจรสลัด (Cheonghae Anti-piracy) พร้อมด้วยทหาร 300 นาย เพื่อเข้าร่วมให้ความคุ้มครองเรือบรรทุกน้ำมันภายใต้การนำของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร รมว.กระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน นาย Mohammad Javad Zarif ทั้งนี้ Reuters รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านเดือน ก.ค. 62 ที่ระดับ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าที่เคยส่งออกในเดือน เม.ย. 61 ปริมาณ 2.50 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 436.5 ล้านบาร์เรล
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ส.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6 แท่น มาอยู่ที่ 770 แท่น ลดลงต่อเนื่อง 5 สัปดาห์สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 61
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 20,021 สัญญา มาอยู่ที่ 276,340สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดวันศุกร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากวันพฤหัสบดีทำสถิติลดลง 7-8% มากสุดในรอบ 3-4 ปี อย่างไรก็ตามตลาดหุ้น Wall Street สหรัฐฯ ยังคงดิ่งลงต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับสินทรัพย์มั่นคง (Safe Haven) อาทิ เงินเยนของญี่ปุ่นที่แข็งค่าต่อเนื่อง และผลตอบแทน (Yield) พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปี ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -0.502% นอกจากนี้ Yield Curve (นับทุกอายุ) ติดลบทั้งหมดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ที่นาย Donald Trump ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุขึ้นอีกครั้ง ทำให้นักลงทุนผละจากสินทรัพย์เสี่ยง (Risky Asset) แล้วหันมาลงทุนใน Safe Haven อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์ของอังกฤษยังคงใกล้เคียงระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 30 เดือนเนื่องจากประเด็น No-Deal Brexit ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนขณะที่เข้าใกล้เส้นตาย (วันที่ 31 ต.ค. 62) เข้าไปทุกขณะ จากที่กล่าวมา เห็นได้ว่าน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Risky Asset มีแรงกดดันจากบรรยากาศการลงทุนที่ไม่สู้ดีนักในยามที่การเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไม่คืบหน้าก่อนกำหนดการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนระลอกใหม่ ของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 62 และยังมีความเสี่ยงจากมาตรการตอบโต้ของจีนในระดับที่ทัดเทียมกัน นอกจากประเด็นเศรษฐกิจแล้วให้ติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางซึ่งล่าสุดอิหร่านยึดเรือน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียอีกครั้ง นับเป็นการยึดเรือลำที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 62 ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.5-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 53-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากกรมศุลกากรของจีนรายงานโรงกลั่น PetroChina ส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน ก.ค. 62 ปริมาณ 12.75 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 62 ปริมาณ 8.5 ล้านบาร์เรล ไปยัง เม็กชิโกและไนจีเรีย ส่งมอบ ก.ค.-ส.ค. 62 ประกอบกับ Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของญี่ปุ่นรายงานยอดขายน้ำมันเบนซิน ในเดือน มิ.ย. 62 ลดลงจากปีก่อน 5.7% อยู่ที่ 817,000 บาร์เรลต่อวัน และ EIA รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 149,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.4 ล้าน บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน776,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.99 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 26 ก.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 230.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3สัปดาห์ และเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่น Baytown (กำลังการผลิต 560,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท ExxonMobil ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐ Taxas สหรัฐฯ หยุดดำเนินการจากเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 62 ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง และ Planning and Analysis Cell ของอินเดียรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน มิ.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 39.5% อยู่ที่ 246,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ West Pacific Petrochemical Corp. (WEPEC) ในจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน ส.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 17.6 % อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก WEPEC ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ส.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 33.3 % อยู่ที่ 300,000 บาร์เรล อีกทั้ง EIA รายงาน ปริมาณน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 26 ก.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล อยู่ที่ 135.9 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 140,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.41 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 520,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Formosa Petrochemical Corp. ในไต้หวันมีแผนเพิ่มอัตราการกลั่นหน่วย CDU ในเดือน ส.ค. 62 และ Energy Secretariat ของเม็กชิโกรายงานบริษัท Pemex นำเข้าน้ำมันดีเซล ในเดือน ม.ค.-มิ.ย. 62 ลดลงจากปีก่อน 19.65 % เฉลี่ยที่ 188,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล