ประพาฬพงษ์ มากนวล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่าโครงการประกวดฯ นี้ได้รับความสนใจจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศทุกภูมิภาค โดยแต่ละโรงเรียนนำเสนอโครงการที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งหลายโครงการที่ได้รับการคัดเลือกนั้นมีการพูดถึงการต่อต้านทุจริตอย่างจริงจัง และมีมิติการนำเสนอที่แตกต่างกัน ได้แก่ โครงการที่ชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างครูนำข้อสอบที่สอนพิเศษไปสอบจริงในชั้นเรียน ตลอดจนมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกร่วม เช่น โครงการที่เน้นความร่วมมือกันระหว่างบ้าน โรงเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง และชุมชน กิจกรรมสร้างจิตอาสา การสร้างพื้นที่ให้ร้องเรียน การชักชวนรุ่นน้องมาร่วมต่อต้านการทุจริต กิจกรรมพี่ให้ความรู้รุ่นน้อง และสร้างนักเรียนคุณธรรม สร้างต้นกล้า แกนนำ และโรงเรียนสุจริต รวมทั้งโครงการที่ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ อาทิ ใช้สื่อศิลปะนำเสนอโทษการทุจริต เสียงตามสายในโรงเรียนและชุมชน จัดทำสื่อหนังสั้น ขับเคลื่อนละครคุณภาพ ใช้สันทนาการในการทำกิจกรรม ปลูกต้นไม้สายสะอาดเป็นสัญลักษณ์ให้ตระหนักเรื่องคอร์รัปชัน หรือการเดินรณรงค์ในชุมชน
นอกจากนั้นยังมีการเชื่อมโยงหลักทางศาสนาเข้ามาปรับใช้ เช่น บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) บรม (บ้าน โรงเรียน มัสยิด) เป็นต้น ยกตัวอย่าง หนึ่งในโครงการที่โดดเด่นในเรื่องนี้อย่าง โครงการ "บรม (บ้าน โรงเรียน มัสยิด) ร่วมใจ ต้านภัยทุจริต" ด้วยการน้อมนำหลักศาสนาอิสลาม คือ "สัจจะ" ไปเชื่อมโยงกับการสร้างสรรค์โครงการ ซึ่ง อะหมัด หลีขาหรี รองผู้อำนวยการโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ จ. สงขลา เปิดเผยว่าทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับประเด็นการต่อต้านการทุจริตอยู่ก่อนแล้ว และมองว่าวิธีการรณรงค์ในปัจจุบันยังขาดการอธิบายด้วยหลักศาสนา จึงต้องการสร้างเครือข่ายทั่วประเทศที่จะต่อยอดมิติศาสนาให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนได้ อีกทั้งเล็งเห็นประโยชน์ของโครงการประกวดฯ ที่จะทำให้พวกเด็กๆ รับรู้สถานการณ์ที่มาที่ไปนำไปสู่การผลักดันและปลูกฝังทัศนคติความถูกต้องให้กับคนรุ่นใหม่ได้จริงๆ
และเพื่อให้โครงการคุณภาพนี้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และจุดประกายไอเดียอย่างแท้จริง จึงคัดเลือกทีมที่เข้ารอบทั้งหมด 20 ทีมเข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่ายที่จังหวัดนครนายก เพื่อมุ่งเน้นให้ความกระจ่าง เสริมเพิ่มเติมถึงวิธีการปรับปรุงโครงการให้ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งการพูดคุยกับไอดอลด้านการต่อต้านทุจริตที่เป็นข่าวดังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจอย่างมาก อาทิ 'ผลประโยชน์ส่วนตัว ทับซ้อนผลประโยชน์ส่วนรวม' โดยวิทยากร ศิริรัตน์ วสุวัต กรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ได้ยกตัวอย่างทั้งคลิปวิดิโอ และสถานการณ์จริง ที่บอกถึงผลประโยชน์ทับซ้อน เอาประโยชน์ส่วนตัวเบียดบังหรือทับซ้อนประโยชน์ส่วนรวม ลักษณะการทุจริต และผลกระทบที่เกิดจากการทุจริต ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างเช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด ขายของบนฟุตบาท หรือเรื่องระดับใหญ่กรณีทุจริต อย่างเช่น นำของหลวงไปใช้ส่วนตัว เอารถหลวงไปจำนำ แล้วมีการเบิกจ่ายน้ำมัน หรือการประมูลที่ดินรัชดา เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมค่ายนี้คาดหวังให้เยาวชนนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสร้างสรรค์โครงการของตนเอง และสร้างเครือข่ายระหว่างเยาวชนกันเองได้ โดยพยายามหาวิธีทำให้คนอื่นๆ เข้าใจในโครงการได้ โดยต้องแยกระบบความคิดระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมจำเป็นที่จะต้อง "คิดดี คิดได้ คิดเป็น" เช่น คิดก่อนทำ คิดถึงคนรอบข้างก่อน ละความโลภ มีความพอเพียง เป็นต้น และจำเป็นต้องนำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมาเป็นแกนหลักในการคิดควบคู่ไปด้วย เพราะนอกจากจะเป็นเด็กเก่งแล้วทุกคนต้องเป็นเด็กดี
และเมื่อเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการคอร์รัปชันแล้ว ทางโครงการ "ค่ายเยาวชนช่อสะอาดต้านทุจริต" ยังได้แนะนำองค์ความรู้โดยเฉพาะ 'การวางแผนสื่อสารและการรณรงค์' เพื่อนำไปปรับใช้กับผลงานให้เข้าถึงใจกรรมการ โดยได้รับข้อมูลจาก อาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง อนุกรรมการด้านการป้องกัน คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า เยาวชนต้องตระหนักให้ได้ว่าคนในสังคมเองนั่นแหละที่มีหน้าที่ดูแลสังคมได้ดีที่สุด ดังนั้นต้องยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเขาสามารถคิดวิเคราะห์ เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ด้วยตัวของคนๆ นั้นเอง ไม่ใช่การบังคับ ชี้นำ สั่ง หรือสอน แต่ต้องทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อทุกคนรู้จักการต่อต้านทุจริต สร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ สามารถดึงทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมหลังจากเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง แทรกเข้าไปอยู่ในใจของเขา และแตกหน่อต่อกิ่งต่อไปได้จึงแสดงถึงผลสำเร็จของโครงการได้อย่างแท้จริง
จากนั้นอาจารย์ก็ให้คำแนะนำถึงขั้นตอนต่างๆ จะต้องมี 1) แผน ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไรคือหัวใจและเป้าหมายของโครงการที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล ยอมรับได้ 2) มีการวางแผนที่มีกระบวนการขั้นตอน ทุกกิจกรรมต้องตอบโจทย์ ทำให้สอดคล้องกัน 3) หลักการโน้มน้าวใจ จะใช้สื่อ ใช้คำ หรือกระบวนการใดเพื่อเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในทิศทางที่กำหนด ตลอดจนการใช้สื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายในแต่ละบริบท ท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์ มีการถกแถลงกันได้ และ 4) การรณรงค์ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามวัตถุประสงค์ โดยต้องมีการไต่ระดับจากตระหนักรู้ก่อน เข้าใจ และผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วม และมีความผูกพันในที่สุด
ขวัญชนก นันตาวิวัฒน์ ครูที่ปรึกษาโครงการปอละบ๋อ (พอหรือยัง) จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ. เชียงใหม่ พร้อมด้วย 2 เยาวชนคนเก่ง เจษฎากร ทองปาน และภัทรวรรณ ดวงแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งสนใจด้านการเมืองอยู่แล้ว ช่วยกันเล่าถึงโครงการที่นำสื่อศิลปะมาเสนอให้เห็นโทษการทุจริต เพราะเชียงใหม่มีกลุ่มคนหลากหลายและมีคนต่างถิ่นมาอยู่อาศัยมากขึ้น เมืองพัฒนาเจริญขึ้นแต่ผังเมืองไม่สอดรับ ย่อมเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตได้ง่าย บวกกับเชียงใหม่มีโครงการ Creative City ที่ทุกคนสามารถใช้ศิลปะมาเป็น "สัญญะ" กระตุกแนวคิดปัญหาต่างๆ อีกทั้งเห็นผลลัพธ์ของ "ริบบิ้นเขียว" ตีแผ่โครงการก่อสร้างบ้านตุลาการหรือหมู่บ้านป่าแหว่ง ให้สังคมรับรู้พลังบวกของคนในชุมชน จึงอยากใช้ศิลปะ ซึ่งไม่ว่าจะวัฒนธรรมไหน จะไทยหรือเทศก็เข้าใจได้เหมือนกัน มาประยุกต์ใช้เป็นวิธีการสื่อสาร เพื่อให้สังคมในวงกว้างตื่นตัว สร้างจิตสำนึกร่วมกัน และช่วยกันพลิกฟื้นคืนเสน่ห์อันงดงามของเมืองกลับคืนมา
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนมาบอำมฤตวิทยา จ.ชุมพร ได้แก่ ณัฐวุฒิ พานิจเจริญ ชมพูนุช หญีตสำรัต และ กณกวรรณ หญีตสำรัต ร่วมกันให้ความเห็นว่าโครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีต่อเยาวชน เพราะปัญหาการทุจริตในเมืองไทยนั้นเรื้อรังและกว้างขวาง แต่ยังเปิดโอกาสให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออกเพื่อต่อต้านกับความไม่ถูกต้องและปัญหาระดับชาติได้ โดยโครงการที่นำเสนอนั้นถูกสร้างสรรค์ด้วยตัวของพวกเขาเอง เป็นการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายทั้งในโรงเรียนและชุมชน มุ่งไปสู่ระดับท้องถิ่น ซึ่งพวกเขามองว่า "สื่อเสียง" มีอิทธิพลต่อการรับรู้ได้ทุกเพศวัยและระดับชนชั้นในสังคม ง่ายต่อการเข้าใจ กระจายได้ทั่วถึงมากกว่า ซึ่งภายหลังเข้าร่วมค่ายเยาวชนแล้ว ก็ตั้งเป้าที่จะกลับไปพัฒนาปรับปรุงโครงการให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะเดินหน้าสานต่อการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตในต่อไป
ถึงแม้จะมีแรงดึงดูดอันหอมหวานด้วยถ้วยเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรีและทุนการศึกษารวมกว่า 600,000 บาท จากโครงการฯ แล้ว เชื่อเหลือเกินว่าจุดประสงค์และเนื้อหาของโครงการประกวด "ค่ายเยาวชนช่อสะอาดต้านทุจริต" ประจำปี 2562 จะทำให้น้องๆ เยาวชนคนกล้า มีความมุ่งมั่นที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอนาคตให้สังคมไทยปราศจากกลโกงได้ด้วยตนเอง หรืออย่างน้อยที่สุดน่าจะมีส่วนทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทุจริตนั้น ลดน้อยถอยลงหรือบรรเทาเบาบางไปบ้างก็ยังดี