นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 16 ในหัวข้อ "คลังคิด เศรษฐกิจเชิงพื้นที่" วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562 ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมงานมากกว่า 500 คน โดยกล่าวว่า การจัดงานสัมมนาวิชาการนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ สศค. นำเสนอผลงานวิชาการในประเด็นสำคัญและอยู่ในความสนใจของสังคม เป็นช่องทางเผยแพร่นโยบายของกระทรวงการคลัง รวมทั้งเปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนทรรศนะและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลังของไทย
สศค. ได้รับเกียรติจากนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดงาน โดยได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่ยังมีความท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า ซึ่งกระทรวงการคลังได้ประเมินผลกระทบก่อนล่วงหน้าและนำไปสู่การออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงทีในปัจจุบัน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมองไปข้างหน้าถึงเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในระยะกลางถึงระยะยาว
ของกระทรวงการคลัง ได้แก่ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความยั่งยืนทางการคลังและเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติเศรษฐกิจและสังคม โดยสร้างความเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันจากภายในเป็นหลัก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยินดีที่ สศค. พัฒนากรอบแนวคิดการวิเคราะห์การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ของการสร้างความเข้มแข็งจากภายในของในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด โดยการพัฒนาเชิงพื้นที่ควรครอบคลุมในมิติต่าง ๆ ในระดับรากหญ้า วิสาหกิจรายย่อยและรายกลาง ผู้ประกอบการ Start Up
ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดลำดับพื้นที่ที่ควรพัฒนาก่อนหลัง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยใช้งบประมาณและเครือข่ายของกระทรวงการคลังในพื้นที่อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และได้ประโยชน์สูงสุด และได้ขอให้ สศค. นำข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนามาปรับใช้และสร้างนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อการเสนอแนะนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป
สำหรับในช่วงเช้าของการสัมมนาฯ เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการของข้าราชการ สศค. ในหัวข้อ "เจาะลึกข้อมูล เจาะจงนโยบาย" นำเสนอโดย ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ นายพงศ์นคร โภชากรณ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ ดร. พีรพัฒน์ วงศ์ชัยวัฒน์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ และนายรอม อรุณวิสุทธิ์ เศรษฐกรชำนาญการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
สศค. ได้ศึกษาและเจาะลึกข้อมูล โดยพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายการคลังเชิงพื้นที่ใน 2 มิติ ได้แก่ 1) การวัดประสิทธิภาพการผลิต (Technical Efficiency) ด้วยวิธี
Data Envelopment Analysis (DEA) ทั้งในภาพรวมของจังหวัดและในสาขาการผลิตต่าง ๆ และ 2) การวัดความพร้อมของปัจจัยพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจ (Economic Fundamental Readiness Index: EFRI) ที่พัฒนาขึ้นมาจากเครื่องชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และได้แบ่งกลุ่มจังหวัดได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 มีประสิทธิภาพการผลิตสูงและมี ความพร้อมฯ สูง (กลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) กลุ่มที่ 2 มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำแต่มีความพร้อมฯ สูง (กลุ่ม Quick Win) กลุ่มที่ 3 มีประสิทธิภาพการผลิตสูงแต่มีความพร้อมฯ ต่ำ (กลุ่มการพัฒนาที่ไม่สมดุล) และกลุ่มที่ 4 มีประสิทธิภาพ
การผลิตต่ำและมีความพร้อมฯ ต่ำ (กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ) ทั้งนี้ แนวทางในการดำเนินนโยบายการคลังเชิงพื้นที่สำหรับกลุ่มที่ 1 ควรมีการต่อยอดจุดแข็งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยรัฐบาลควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น กลุ่มที่ 2 ควรยกระดับประสิทธิภาพทางการผลิตในด้านที่เป็นจุดแข็ง โดยรัฐบาลสามารถสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งทุนและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กลุ่มที่ 3 ควรยกระดับความพร้อมฯ ในด้านที่ยังต้องพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และกลุ่มที่ 4 ต้องการสนับสนุน
ด้านนโยบายโดยควรยกระดับประสิทธิภาพทางการผลิตและความพร้อมฯ ควบคู่กัน สำหรับแนวทางการต่อสู้กับปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่สำหรับกลุ่มที่ 1 ควรบรรเทาภาระค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเสริมด้วยการพัฒนาอาชีพและการยกระดับคุณภาพชีวิต กลุ่มที่ 2 ควรเน้นการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานและหารายได้
กลุ่มที่ 3 ควรเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต อาทิ การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การศึกษาขั้นพื้นฐาน และกลุ่มที่ 4 ควรเน้นเรื่องการพัฒนาอาชีพ เพิ่มเบี้ยคนขยันและทุนประเดิมเสริมอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต และการบรรเทาภาระค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยดำเนินนโยบายที่ออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และกลุ่มคน (Tailor-made)
สำหรับการสัมมนาฯ ในช่วงเช้า ยังได้รับเกียรติจากผู้วิพากษ์ 2 ท่าน ได้แก่ ดร. สันติธาร เสถียรไทย ประธานนักเศรษฐศาสตร์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี กรุ๊ป และ ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
ดร. สันติธาร เสถียรไทย กล่าวชื่นชมการวิเคราะห์และแนวนโยบายเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ว่าเป็นแนวคิดที่ดีและสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดออกไปได้ในอีกหลายมิติ โดยจุดเด่นของการศึกษาอยู่ที่การให้ความสำคัญในระดับจังหวัด มีการจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดในการวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยใช้ฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ ฐานข้อมูลที่ได้มีการสร้างขึ้นนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ให้ความเห็นว่าการนำเสนอผลงานฯ เป็นการศึกษาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในการใช้เพื่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยมีการเสนอกรอบการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายการคลังเชิงพื้นที่ มีการวิเคราะห์ประเมินความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณ โดยใช้ข้อมูลรายพื้นที่ด้านต่าง ๆ จำนวนมาก และมีนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งนี้ หากในอนาคตหน่วยงานต่างๆ มีการจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ออกมามากขึ้นก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์เพิ่มเติมได้
สศค. หวังว่าผลงานวิชาการนี้จะพัฒนาแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเชิงพื้นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการคลัง อันจะช่วยให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีอย่างทั่วถึงมากขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit