รวมทั้งภาวะทุพโภชนาการ ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง โปรตีนในเลือดต่ำ และการติดเชื้อในช่องอกและทางเดินหายใจ ปอดมีสีซีดและเกิดการโป่งพอง เกิดก้อนหนองแทรกตามเนื้อปอด โดยเฉพาะปอดข้างซ้าย พบรอยช้ำของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องและผนังช่องท้องด้านใน คาดว่าเกิดจากการกระแทกของพะยูนตัวผู้ ตับมีสีเหลืองเนื่องจากการไม่รับอาหารมาเป็นเวลานาน มีจุดเนื้อตายและหนองบนตับ หัวใจพบเลือดเล็กน้อย และบีบตัวแข็งจากการเกิดสภาวะช็อค และส่วนของระบบทางเดินอาหารและมีการสะสมของแก๊สจำนวนมากตามทางเดินอาหาร ซึ่งคาดว่ามาจากการที่กระเพาะอาหารมีการเคลื่อนตัวและบีบตัวลดลง ตลอดลำไส้เล็กอักเสบพบจุดเนื้อตายสีขาว และพบมีการหนาตัวและมีเนื้อตายเคลือบด้านในของผนังลำไส้ และพบขยะประเภทเศษถุงพลาสติกจำนวน 8 ชิ้น อัดแน่นกันอยู่ในลำไส้เล็กส่วนปลายต่อลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากมาเรียมมีสภาวะขาดน้ำที่รุนแรง ทำให้ส่งผลต่อการบีบตัวของทางเดินอาหารลดลงหรือไม่เคลื่อนที่ ทำให้เกิดการสะสมของแก็สในทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก ทำให้เกิดสภาวะช็อค เนื่องจากความเจ็บปวด และเสียชีวิตลงทันที นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนองตามมา
ขยะพลาสติกที่พบในท้องของมาเรียม
กรณีการตายของลูกพยูน หรือ "มาเรียม" ที่เรารู้จักกันดีถือได้ว่าเป็นการสะท้อนปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไทย ที่คร่าชีวิตของเหล่าสิ่งมีชีวิตในน้ำไปไม่น้อย เป็นที่น่าตกใจว่า พลาสติก ร้อยละ 90 ที่ถูกผลิตขึ้น ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล และได้ตกค้างสู่สิ่งแวดล้อม มีขยะถูกทิ้งสู่มหาสมุทรปีละกว่า 8 ล้านตัน และหากไม่มีการแก้ไข ภายในปี 2593 ปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรอาจมากกว่าปลา สำหรับประเทศไทยมีขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 โดยมีขยะในทะเลกว่า 11.47 ล้านตัน ซึ่งร้อยละ 80 มาจากขยะบนบก ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ขยะที่พบในทะเลกว่าครึ่งเป็นขยะพลาสติก โดยไทยถือเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติก เป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด
รู้หรือไหม? คนไทยแต่ละคนสร้างขยะ 1.1 กิโลกรัมต่อวัน เป็นถุงพลาสติก 8-10 ใบต่อวัน ปัจจุบันไทยผลิตถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านใบ ส่วนขยะทะเลที่พบอันดับ 1 ถุงพลาสติก ตามด้วยหลอด ฝาพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร สัตว์น้ำ 200 ชนิด ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซากวาฬ ปลา เต่า ที่เสียชีวิต มักพบเศษพลาสติกอยู่ในร่างกาย วิกฤติขยะพลาสติกยังเป็นปัญหารุนแรงต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง นำมาสู่การเดินหน้าทำแผนลดขยะ และเพิ่มวิธีรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2570 โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หารูปแบบและวิธีการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีการเก็บรวบรวมขยะที่เกิดจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงและการนำมาผลิตเป็นพลังงาน เช่น ก๊าซหุงต้ม พลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ในปัจจุบันมีปริมาณขยะจากชุมชนและอุตสาหกรรมจำนวนมากในแต่ละพื้นที่ ปี 25561 มีปริมาณขยะ จำนวน 27.93 ล้านตัน ขยะที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จำนวน 20.61 ล้านตัน แยกเป็นขยะที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ จำนวน 9.76 ล้านตัน และนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง เช่น นำไปผลิตไฟฟ้า จำนวน 10.85 ล้านตัน (กรมควบคุมมลพิษ 2561)
ที่ผ่านมาเรามีความกังวลว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะเป็นมลพิษที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพของคนในพื้นที่ที่ทำการประมงชายฝั่ง การขนส่งถ่านหินจะทำลายแนวปะการัง ทำลายห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อนจะสูญพันธ์ สัตว์น้ำหายาก และมีสารพิษปนเปื้อนในอาหารทะเล อีกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินยังทำลายทัศนียภาพที่สวยงามของท้องทะเล แต่หารู้หรือไหมว่า….ภัยเงียบที่เป็นมลพิษทางทะเลและคุกคามชีวิตสัตว์ต่าง ๆ คือ "ขยะพลาสติก" ที่มนุษย์ได้ทิ้งลงทะเลอย่างไร้จิตสำนึก
เชื่อว่าการตายของ "มาเรียม" จะกระตุกจิตสำนึก ใครหลาย ๆ คน รวมกันสร้างความตระหนักให้ประชาชนในระดับครัวเรือน และชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ภาครัฐต้องสร้างรูปแบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบทั้งการจัดการขยะ หรือ การนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต