ก.เกษตรฯ เล็งยกระดับนมโคไทยสู่ตลาดฮาลาล

23 Aug 2019
"รมช.มนัญญา" ลงพื้นที่พบเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จ.สระบุรี เล็งยกระดับคุณภาพนมโคไทยสู่ตลาดฮาลาลโลก หนุนขยายโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ดึงเกษตรรุ่นใหม่ร่วมสืบสานพัฒนาอาชีพหวังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
ก.เกษตรฯ เล็งยกระดับนมโคไทยสู่ตลาดฮาลาล

วันนี้ (23 ส.ค.62) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารพนักงาน และลูกจ้างขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ว่า ในวันนี้ได้มามอบนโยบายให้ อ.ส.ค. อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้านการส่งเสริมเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้มีการพัฒนาการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การบริหารจัดการโคนม ภายใต้ อ.ส.ค. เป็นแนวทางที่ดี สามารถกระจายรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในท้องถิ่น โดยจะสนับสนุนให้เกษตรรุ่นใหม่หันมาสนใจและเข้ามาร่วมพัฒนาอาชีพเลี้ยงโคนมให้มากขึ้น ด้วยการนำองค์ความรู้สมัยใหม่มาผสมผสานกับองค์ความรู้ดั้งเดิมของเกษตรกรรุ่นเก่าเพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตน้ำนมและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จึงอยากให้เกษตรกรรุ่นเก่าได้ส่งต่อองค์ความรู้ให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อขยายการตลาดให้มากขึ้น นอกจากนี้ การเลี้ยงโคนมยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง จึงอยากให้เกษตรกรแบ่งส่วนในช่วงครึ่งปีหันมาเลี้ยงโคนม โดยกระทรวงเกษตรฯพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรต่อไป

"การเลี้ยงโคไม่ว่าจะเป็นโคนมและโคเนื้อ สิ่งสำคัญ คือ องค์ความรู้พื้นฐานของเกษตรกรควรได้รับการต่อยอด และขยายโรงงานแปรรูปผลิตภันฑ์นมเพื่อรองรับเกษตรกรรุ่นใหม่ รวมทั้งกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกรในท้องถิ่น โดยหลังจากนี้จะติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานออกแบบการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ก็อยู่ในระหว่างการออกแบบจัดตั้ง เพื่อรองรับการขยายตัวการผลิตน้ำนมดิบในภาคเหนือตอนบนอีกด้วย พร้อมทั้งจะเข้าไปดูว่าผลิตภัณฑ์นมของโรงงานสามารถขยายตลาดไปสู่ฮาลาลโลกได้หรือไม่ เพื่อขยายตลาดให้เข้าถึงประเทศที่เป็นมุสลิม เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความนิยมในการบริโภคนม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรลดการกู้เงินและเพิ่มการออมเงินให้มากขึ้นด้วย" นางสาวมนัญญา กล่าว

สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงโคนมนั้น ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งหมด4,862 ฟาร์ม จำนวนโคนมทั้งหมด 126,945 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ย 779 ตัน/วัน (คิดเป็น1 ใน 5 ส่วนของประเทศ โดยสหกรณ์โคนม/ศูนย์รับน้ำนมดิบในความดูแลของ อ.ส.ค.ประกอบด้วย สหกรณ์โคนม 43 สหกรณ์ ศูนย์รับน้ำนมดิบ 12 ศูนย์ และหน่วยงานอื่นๆอีก 5หน่วยงาน รวมเป็น 60 หน่วยงาน และ อ.ส.ค.มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมกระจายอยู่ในภูมิภาค 5 แห่ง ได้แก่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี (กำลังการผลิตสูงสุด) ,อ.ปราณบุรีจ.ประจวบคีรีขันธ์,จ.เชียงใหม่ ,จ.ขอนแก่น และ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ซึ่งในภาพรวมสามารถรองรับน้ำนมดิบเข้าสู่การแปรรูปได้ประมาณ 800 ตัน/วัน

ส่วนพื้นที่ส่งเสริมในเขตภาคกลาง อ.ส.ค.ดูแลเกษตรกรครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และนครราชสีมา โดยมีจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 2,448 ฟาร์มจำนวนโคนมทั้งหมด 67,988 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ย 402 ตัน/วัน โดยสหกรณ์โคนม/ศูนย์รับน้ำนมดิบในความดูแลของ อ.ส.ค. ประกอบด้วย สหกรณ์โคนม 15 สหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆอีก 3 หน่วยงาน รวมเป็น 18 หน่วยงานหลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางไปยังโรงงานนมมวกเหล็ก สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคกลาง พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการผลิตโรงงานนมมวกเหล็ก ซึ่งรับน้ำนมดิบโดยการทำ MOU ร่วมกับสหกรณ์ในเขตพื้นที่ภาคกลาง มีน้ำนมดิบที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเฉลี่ย 500 ตัน/วัน มีผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ ผลิตภัณฑ์นม UHT ,ผลิตภัณฑ์นมโยเกิร์ตพร้อมดื่ม, ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์, ผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิค,ไอศกรีมนมรสต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน UHT และผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม ด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ 2561 มียอดจำหน่ายกว่า 3,369 ล้านบาท ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – กรกฎาคม 2562 มียอดจำหน่ายกว่า 3,250 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นองค์กรของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกันเอง โดยสหกรณ์มีพนักงานซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น จำนวน 350 คน มีเกษตรกรที่สหกรณ์ดูแลอยู่ประมาณ3,000 คน และมีจำนวนฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์โคนม จำนวนกว่า 800 ฟาร์ม ในด้านการผลิต สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ สามารถรวบรวมน้ำนมโคจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในปริมาณ อันดับ 2 ของประเทศ รองจากสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี โดยสหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำนมโคจากสมาชิกได้วันละ 120-130 ตัน/วัน 3,600-4,000 ตัน/เดือน คิดเป็นมูลค่า ปีละประมาณ 800 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ตรวจเยี่ยมและวางแนวทางการแก้ไขปัญหาของโรงงานนมผงอัดเม็ด ซึ่งสร้างโดยงบประมาณจังหวัดสระบุรี แต่ยังไม่สามารถส่งมอบให้แก่ผู้รับผิดชอบได้ โดยได้ให้ อ.ส.ค.เป็นเจ้าภาพร่วมกับเกษตรกร

HTML::image( HTML::image( HTML::image(