แควนตัสประกาศให้บริการเที่ยวบินวิจัยโครงการซันไร้ซ์ 3 เที่ยวบินเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้โดยสาร สุขภาพและคุณภาพชีวิตของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยมีเป้าหมายนำมาให้บริการเที่ยวบินตรงเพื่อการพาณิชย์จากบริสเบน ซิดนีย์และเมลเบิร์นไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป โดยในช่วง 3 เดือน (ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม) สายการบินแควนตัสจะบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ดรีมไลเนอร์ พร้อมวางแผนการบิน และแทนที่จะบินด้วยเครื่องบินเปล่าจากซีแอตเติลไปประเทศออสเตรเลีย สายการบินแควนตัสจะรวมเส้นทางโครงการซันไร้ซ์คือลอนดอนและนิวยอร์คไปซิดนีย์เข้าไปด้วย และจะเป็นครั้งแรกของโลกที่สายการบินพาณิชย์จะบินตรงจากนิวยอร์คไปซิดนีย์ และเป็นครั้งที่สองเท่านั้นที่บินตรงจากลอนดอนไปซิดนีย์ แต่ละเที่ยวบินจะมีผู้โดยสารเพียง 40 คน รวมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
สำหรับงานวิจัยภายในห้องโดยสารบนเครื่องบินได้รับการออกแบบร่วมกับศูนย์วิจัยชาลส์ เพอร์กิ้นส์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ มหาวิทยาลัยโมนาชห์ และซีอาร์ซีเพื่อความตื่นตัว ความปลอดภัยและประสิทธิผลที่ได้รับ
ผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางไปด้วยส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานสายการบินที่สามารถสวมอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมกับประสบการณ์ในเที่ยวบินประมาณ 19 ชั่วโมง โดยนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยชาลส์ เพอร์กิ้นส์จะมอนิเตอร์การนอนหลับ การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม แสง การเคลื่อนไหว และความบันเทิงภายในห้องโดยสารเพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และวงจรระบบการทำงานของร่างกาย นักวิจัยมหาวิทยาลัยโมนาชห์จะทำงานร่วมกับนักบินบันทึกระบบฮอร์โมนเมลาโทนินในร่างกายของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั้งก่อน ระหว่างและหลังเที่ยวบิน นักบินจะสวมอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่สามารถติดตามดูแพทเทิร์นคลื่นสมองและมอนิเตอร์ความตื่นตัวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อช่วยสร้างภาวะการทำงานที่ดีที่สุด รวมถึงรูปแบบการพักผ่อนที่เหมาะสมสำหรับนักบินเมื่อต้องปฏิบัติงานในเที่ยวบินระยะไกล
มร.อลัน จอยส์ ประธานกรรมการบริหารแควนตัสกรุ๊ป เผยว่า "เที่ยวบินนี้จะช่วยให้คณะแพทย์ทำงานวิจัยในสถานการณ์จริงที่จะอำนวยประโยชน์ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างดี การบินด้วยระยะทางที่ยาวมากเป็นพิเศษก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความสบายและคุณภาพชีวิตระหว่างการเดินทางของผู้โดยสารและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เที่ยวบินเพื่อการวิจัยนี้จะสามารถตอบโจทย์ต่างๆ ได้ด้วยข้อมูลและรายละเอียดที่ประเมินค่ามิได้ สำหรับผู้โดยสารแล้วสิ่งสำคัญที่เป็นข้อกังวลคือทำอย่างไรให้มีอาการเจ๊ทแล็ค (อาการอ่อนเพลียจากการเดินทาง) น้อยที่สุด สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้เป็นเหมือนการพักผ่อน และเพลิดเพลินระหว่างการเดินทาง สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นเรื่องการใช้งานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดความตื่นตัวขณะปฏิบัติงานและให้มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอในช่วงเวลาพักขณะอยู่ในเครื่องบิน"
"การให้บริการเที่ยวบินตรงแบบไม่หยุดพักจากชายฝั่งตะวันออกของประเทศออสเตรเลียไปลอนดอนและนิวยอร์คถือเป็นพรมแดนขั้นสูงสุดในธุรกิจการบิน ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นทำให้ดีที่สุด ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินไหนที่ทำงานวิจัยในรูปแบบนี้มาก่อน เราจะใช้ผลลัพธ์จากงานวิจัยโครงการซันไร้ซ์ช่วยปรับรูปแบบการดีไซน์ห้องโดยสาร การบริการภายในห้องโดยสาร และแพทเทิร์นการปฏิบัติงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมทั้งจะดูว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเพื่อการบริการในเที่ยวบินระยะไกลเที่ยวบินอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง"
สายการบินแควนตัสได้รวบรวมข้อมูลกลยุทธ์การนอนหลับของผู้โดยสารในเส้นทางเพิร์ธ-ลอนดอนไว้แล้ว ซึ่งจะมีการประเมินโดยเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย นอกจากนั้นจะมีการทดสอบรายการอาหาร โซนคุณภาพชีวิตและตัวเลือกด้านความบันเทิงกับผู้โดยสารเพื่อรวบรวมข้อมูลด้วย ส่วนข้อมูลคุณภาพชีวิตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะรวบรวมให้กับหน่วยงานด้านความปลอดภัยอากาศยานเพื่อให้ทราบเกี่ยวกับรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับเที่ยวบินระยะไกล บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินทั้งแอร์บัส (A350) และโบอิ้ง (777x) ต่างเสนอเครื่องบินของตนเองเพื่อใช้ในเที่ยวบินโครงการซันไร้ซ์ โดยคาดว่าจะมีการตัดสินใจราวปลายเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งขึ้นอยู่กับเครื่องบิน การอนุมัติกฏข้อบังคับและข้อตกลงทางการบิน
"สำหรับโครงการซันไร้ซ์แล้วมีความใคร่อยากรู้มากมายแต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปใดที่สามารถทราบล่วงหน้าได้ ดังนั้นนี่ถือเป็นการตัดสินทางธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด" มร.จอยส์กล่าวสรุป
ข้อมูลสำคัญงานวิจัยเที่ยวบินโครงการซันไร้ซ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit