แพทย์หญิงจริญญารัตน์ นิธิพิพัฒ์โกศลกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแม่สายจังหวัดเชียงรายกล่าวถึงสถานการณ์ธาลัสซีเมียในจังหวัดเชียงรายว่า ปี 2562 จังหวัดเชียงรายมีหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย จำนวน 5661 ราย (ในจำนวนนี้มีต่างด้าว 227 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.3) มีหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงที่มีโอกาสให้กำเนิดบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง(คู่เสี่ยง)จำนวน 88 ราย และได้รับการวินิจฉัยก่อนคลอดและมีผลการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 43 รายและได้ยุติการทั้งครรภ์ (Termination of Pregnancy ) 42 ราย กระบวนการตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ของหวัดเชียงราย เริ่มจากโรงพยาบาลตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์และสามีเบื้องต้นตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยของธาลัสซีเมีย ในขณะที่โรงพยาบาลแม่สายจังหวัดเชียงรายยังคงเดินหน้าร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่1/1เชียงรายให้บริการตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ ตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยของธาลัสซีเมีย
แพทย์หญิงจริญญารัตน์ให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลแม่สายจังหวัดเชียงรายเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทยมีเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ120เตียง แต่ละปีต้องรองรับการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียทั้งที่เป็นคนไทยและต่างด้าว จากรายงานพบว่า ปี2560 มีผู้ป่วยธาลัสซีเมีย 293 ราย ปี2561มีผู้ป่วย 283 ราย ปี2562(ณ เดือนก.ค.62)มีผู้ป่วย 209 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยต่างด้าว 1ใน 3 ในขณะที่เป็นคนไทย 2 ใน 3 และเมื่อเทียบเป็นจำนวนครั้งของการมารับบริการในแต่ละปี เริ่มจากปี2560มีผู้มารับบริการจำนวน 870 ครั้ง ปี2561จำนวน 1,029ครั้ง ส่วนปี2562จำนวน 1,090 ครั้ง สาเหตุที่จำนวนครั้งของผู้มารับบริการรักษาในแต่ละปีเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยด้วยความพร้อมของโรงพยาบาลจากการมีกุมารแพทย์ แพทย์อยุรกรรมและสูตินรีแพทย์รวมทั้งความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ซึ่งทางโรงพยาบาลจะมีคลินิกที่เปิดให้บริการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียอยู่ 3 ประเภทได้แก่ 1.คลินิกฝากครรภ์เพื่อคัดกรองภาวะธาลัสซีเมีย ซึ่งจะมีสูตินรีแพทย์ประจำ 2.คลินิกตรวจโรคเด็กซึ่งจะมีกุมารแพทย์ตรวจคัดกรองภาวะซีดตามโครงการมหัศจรรย์2,500วัน 3.คลินิกตรวจโรคทั่วไปและอยุรกรรมให้บริการโดยแพทย์อยุรกรรม
สำหรับขั้นตอนการตรวจคัดกรองภาวะธาลัสซีเมียนั้นทางโรงพยาบาลจะตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยของธาลัสซีเมียโดยจะเก็บตัวอย่างเลือดแล้วส่งไปตรวจยืนยันที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่1/1เชียงรายเมื่อผลออกมาว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงและเข้าข่ายเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงก็จะส่งคำปรึกษาไปยังแพทย์เจ้าของไข้เพื่อพิจารณาหาแนวทางการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าเป็นชนิดรุนแรงที่อันตรายต่อชีวิตทั้งของแม่และเด็กก็จะให้ผู้ป่วยตัดสินใจเองว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่
แพทย์หญิงจริญญารัตน์ยังกล่าวอีกว่าแม้ทางโรงพยาบาลจะมีความพร้อมในการให้บริการตรวจคัดกรองภาวะธาลัสซีเมียแต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือปัญหาปริมาณเลือดไม่เพียงพอต่อการใช้ในผู้ป่วย(ต้องการเลือดมากขึ้นและขาดผู้บริจาคเลือด)ทางโรงพยาบาลจึงขอเชิญชวนผู้ใจบุญร่วมบริจาคเลือดช่วยเหลือน้องๆที่ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียได้ที่โรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 053-731300
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit