EPG ทำธุรกิจในตลาดโลก ตระหนักถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานในภาพรวม โดยนำกลยุทธ์หลักคือ "The New S-Curve" มาใช้อย่างต่อเนื่อง ได้พัฒนาสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แนวโน้มธุรกิจของ EPG ต่อจากนี้ มีปัจจัยบวกจากแนวโน้มราคาวัตถุดิบที่มีทิศทางลดลง และการดำเนินธุรกิจยังคงขับเคลื่อนจาก 3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น 2) ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ และ 3) ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ หากธุรกิจในกลุ่มใดชะลอตัวยังมีกลุ่มอื่นๆ สนับสนุน โดยทั้งปีตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายเติบโตประมาณ 10%
ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโต ทั้งจาก ตลาดในประเทศ ได้แก่ โครงการปรับปรุงสนามบิน และ การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติมายังประเทศไทย เป็นต้น สำหรับตลาดต่างประเทศในสหรัฐอเมริกามีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ ประเทศญี่ปุ่น มีโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ สนามกีฬาและ โรงแรมเพื่อรองรับโอลิมปิก 2020 เป็นต้น ในด้านการผลิตในประเทศ โรงงานใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 62 ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสขยายตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น ในสหรัฐอเมริกาจากการที่ได้ลงทุนปรับปรุงไลน์การผลิตไปแล้วนั้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตได้อย่างมาก และ จะทยอยลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมต่อไป
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeoroklas เติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทพื้นปูกระบะ (Bed Liner)/ หลังคาครอบกระบะ (Canopy) และ บันไดข้างรถกระบะ (Sidestep) ที่มีความต้องการใช้จากกลุ่มลูกค้าต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ฝาปิดกระบะ (Roller lid) ออกสู่ตลาดแล้ว และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าผลกระทบสงครามการค้าส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกชะลอตัว Aeroklas เตรียมความพร้อม มุ่งเน้นการลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตทดแทน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ในทวีปแอฟริกา ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลกหลายรายเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากสามารถจะขยายธุรกิจไปยังทวีปแอฟริกาและเป็นประตูสู่ทวีปยุโรปจากการสนับสนุนของรัฐบาลแอฟริกาใต้ โดยAeroklas ได้ลงทุนในกิจการร่วมค้า Aeroklas Duys (Pty) Ltd. ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภท อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ให้กับลูกค้า OEM และลูกค้ารายย่อยทั่วไปในประเทศแอฟริกาใต้
สำหรับธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย TJM Products Pty.Ltd (TJM) ได้ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจไปแล้วหลายด้าน เช่น การปรับโครงสร้างธุรกิจ การสร้างร้านสาขา รวม 3 แห่ง และ การนำระบบ Supplier Partnership Program (SPP) มาใช้ดำเนินการ เป็นต้น การดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทจะเร่งให้เกิด Synergy ของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AEROKLAS โดยใช้ฐานลูกค้าและการให้บริการครบวงจร บริหารจัดการด้านการตั้งราคาขายสินค้าที่เหมาะสม และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ดียิ่งขึ้น รวมถึง ลดต้นทุนการผลิตสินค้าและการประกอบสินค้าบางประเภทในประเทศออสเตรเลีย โดยย้ายมาใช้ฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งโรงงานใหม่ของ AEROKLAS คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 62
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP ตามที่ได้ปรับกลยุทธ์ โดยใช้หลักการ "Capacities Driven"
บริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ EPP เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยในปีนี้จะทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการสินค้ามาตรฐานสูง และกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่ม นอกจากนี้ EPPสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบประเภท Bio plastic ได้เนื่องจากมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม รวมถึง บริษัทมีแผนที่จะลงทุนขยายไลน์การผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อสามารถให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร
สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 62/63 (เม.ย.62 – มิ.ย.62) บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,672.4 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 2,623.2 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ส่งผลให้ EPG มีกำไรสุทธิ 215 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 29.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 304.8 ล้านบาท แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 93.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) ที่มีกำไรสุทธิ 111.1 ล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างการผลิต และได้เริ่มใช้วัตถุดิบที่ราคาปรับตัวลดลงแล้ว รวมถึง มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามแผนธุรกิจในระยะยาว ดร.ภวัฒน์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit