ตลาดฮาลาลออนไลน์และเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะเมล็ดพืชคว้ารางวัล MOST Innovation Awards 2019

19 Aug 2019
ตลาดฮาลาลออนไลน์และเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะเมล็ดพืชคว้ารางวัล MOST Innovation Awards 2019สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จัดงาน Regional Science Park (RSP) Innovation Day 2019 ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเปิดเวทีเผยแพร่ความสำเร็จด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพ รวมถึงแสดงความพร้อมในการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้เป็นที่ประจักษ์แก่ภาครัฐและเอกชน โดยในงานนี้มีการมอบรางวัล MOST Innovation Awards 2019 เชิดชูผู้ประกอบการที่ได้รับบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่มีผลงานโดดเด่นทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก
ตลาดฮาลาลออนไลน์และเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะเมล็ดพืชคว้ารางวัล MOST Innovation Awards 2019

รศ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และช่วยให้ก้าวหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายในการสร้างฐานให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคแต่ละแห่งเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ภาคเอกชน อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจึงเปรียบเสมือนประตูผ่านเพื่อให้ท้องถิ่นมีการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ

ปัจจุบัน อว. ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) (Science Park Promotion Agency : SPA) สนับสนุนการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง 14 มหาวิทยาลัย ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) 7 มหาวิทยาลัย, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Science Park) 4 มหาวิทยาลัย และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (Southern Science Park) 3 มหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านองค์ความรู้ ด้านกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง รวมทั้งความพร้อมด้านหลักสูตรและเครื่องมือที่มีจำนวนมาก โดยผ่านการดำเนินงาน 5 แผนงานหลัก ได้แก่ การบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม, การพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์, การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่, การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุทยานวิทยาศาสตร์ ขณะนี้ อว. มีอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ 2 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และจะเปิดในต้นปี 2563 ณ ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และสามารถบริการภาคเอกชนได้ทั่วถึงทั้งประเทศ

ทั้งนี้ภายในงานยังได้มอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมระดับประเทศ (MOST Innovation Awards 2019) 2 สาขา ได้แก่ สาขานักธุรกิจนวัตกรรม และสาขานวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ ให้แก่บริษัทหรือผู้ประกอบการที่ได้รับบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขานักธุรกิจนวัตกรรมได้แก่ Pinsouq ตลาดฮาลลาลออนไลน์จากบริษัทแฮส ออเดอร์ จำกัด ซึ่งเป็นแหล่งรวมบริการด้านฮาลาลดิจิทัลครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปสู่การกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค ส่วนรองชนะเลิศมี 2 รางวัล ได้แก่ ระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียง จากบริษัทเฟมเม เวิร์ค จำกัด และโปรแกรมตรวจจับสัญญาณไฟแดงด้วยกล้องวงจรปิด ของบริษัทเจพี อินเทลลิเจนท์ ซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรมและกระบวนการเชิงพาณิชย์ ได้แก่ เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะเมล็ดพืชของ ผศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อใช้เร่งการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืชให้เกิดขึ้นในเวลารวดเร็ว โดยไม่ต้องทำการเติมสารเร่ง ปรับสภาพน้ำ ลดปริมาณการใช้น้ำ และลดแรงงานด้วยหลักการให้น้ำไหลผ่านร่วมกับการบ่มงอกให้เกิดขึ้นในภาชนะเดียวกัน ส่วนรองชนะเลิศในสาขานี้มี 2 รางวัลคือ เทคโนโลยีการปลูกผักพร้อมรับประทานในบรรจุภัณฑ์ ของบริษัททิวา อินโนเวท จำกัด ละอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมผลิตจากยางพาราของ ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ตลาดฮาลาลออนไลน์และเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะเมล็ดพืชคว้ารางวัล MOST Innovation Awards 2019 ตลาดฮาลาลออนไลน์และเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะเมล็ดพืชคว้ารางวัล MOST Innovation Awards 2019