นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การถมทะเลเป็นกระบวนการสร้างที่ดินใหม่ โดยการถมทราย ดิน หรือโคลน หรือวัสดุอื่นใดในพื้นที่ทะเลรวมไปถึงชายฝั่งทะเล เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะเน้นด้านผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มีอำนาจในการอนุญาตหรืออนุมัติในการก่อสร้างหรือถมทะเลแต่อย่างใด ซึ่งการอนุญาตหรืออนุมติเพื่อดำเนินการจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี
ด้านนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตรวจสอบระเบียบที่เกี่ยวข้องและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ดังกล่าวโดยละเอียด ทั้งนี้ การถมทะเลดังกล่าวซึ่งมีขนาดมากกว่า 300 ไร่ จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการกิจกรรม หรือการดำเนินการที่อาจมีผล กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ซึ่ง EIA ดังกล่าวจะมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณากลั่นกรอง ถึงผล กระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน และกฎระเบียบต่าง ๆ นอกจากนี้ สผ. จะได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอความคิดเห็นประกอบ การพิจารณาอีกด้วย สำหรับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่กล่าวอ้างว่าจะมีการดำเนินการ ทช. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้สำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว พบว่า มีแนวปะการังที่ใกล้แหลมฉบังมากที่สุดอยู่ที่เกาะสีชัง มีระยะห่างออกไปในทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร โดยในพื้นที่หมู่เกาะสีชังมีแนวปะการังประมาณ 271 ไร่ พบมากบริเวณเกาะสีชัง-ยายท้าว 57 ไร่ เกาะขามใหญ่ 67 ไร่ และเกาะท้ายตาหมื่น 77 ไร่ ที่เหลือกระจายใน พื้นที่เกาะใกล้เคียงอีกประมาณ 70 ไร่ ซึ่งโครงการที่จะดำเนินการในบริเวณดังกล่าว จะต้องศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับทรัพยากรดังกล่าวด้วย
นายโสภณ ทองดี โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง รักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศเพื่อให้คงอยู่ และสร้างสมดุลในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำการดำเนินการใด ๆ จะต้องมีความถูกต้องของกฎหมาย บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการ ก็จะต้องปฏิบัติตาม ระเบียบและกฎหมายที่กำหนด โดย ทส. จะได้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อไป นายโสภณ ทองดี โฆษกประจำกระทรวง กล่าวในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit