นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า โรคทางจิตเวช เป็นกลุ่มโรคที่ต้องใช้การรักษาแบบผสมผสานคือใช้ยาและการบำบัดฟื้นฟูด้านจิตใจอารมณ์ สังคมและพฤติกรรม ใช้เวลารักษาเป็นเวลานาน หัวใจสำคัญคือผู้ป่วยต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการทางจิตที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและลดการกำเริบซ้ำ ในส่วนการจัดบริการดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบคือเขตสุขภาพที่ 9 ที่เจ็บป่วยทางจิต ประกอบด้วย4 จังหวัดอีสานตอนล่าง คือนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิและสุรินทร์ ได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของรพ.ชุมชนซึ่งมีครอบคลุมทุกอำเภอ ให้เป็นเครือข่ายสามารถให้การตรวจรักษาผู้ป่วยทางจิตที่อาการไม่รุนแรงได้ โดยกระจายยารักษาโรคจิตเวชที่พบได้บ่อยได้แก่โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ทั้งหมด 35 รายการ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันที่รพ.จิตเวชฯใช้ ขณะเดียวกันก็สามารถรับช่วงดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องต่อจากรพ.เฉพาะทาง,รพ.ศูนย์ และรพ.ทั่วไป ผู้ป่วยสามารถรับยาได้ที่รพ.ชุมชนใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางเข้าไปรับยาที่จังหวัด
" ในปี 2562 นี้มีประชาชนที่เจ็บป่วยทางจิต เข้ารับการตรวจรักษาประเภทผู้ป่วยนอกที่รพ.ทุกระดับภายในเขตสุขภาพที่ 9 ที่มี 90 แห่ง รวมกว่า 370,000 คน และเข้ารับการรักษาโดยนอนพักรักษาในรพ.ประมาณ 60,000 คน โดยมีผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในระบบดูแลรักษาต่อเนื่องสะสมทั้งเขตประมาณ 180,000 คน" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
ทางด้านเภสัชกรหญิงจุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า กลุ่มงานเภสัชกรรม ได้ดำเนินการพัฒนาระบบยาจิตเวชในรพ.ชุมชนในเขตสุขภาพที่ 9 เพื่อเป็นรพ.เครือข่ายดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนและมีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เภสัชกรรม พัฒนาหลักสูตรอบรมระยะสั้นเภสัชกรในรพ.ชุมชนเป็นเวลา 7 วัน ได้รับการรับรองจากกรมสุขภาพจิต เพื่อเพิ่มพูนทักษะและมีความรู้ความเข้าใจโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในชุมชน 6 โรคและยาที่ใช้รักษาได้แก่ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล โรคจิตเวชจากการเสพสารเสพติดและภาวะนอนไม่หลับ สามารถให้การดูแลด้านยาได้ตามมาตรฐานทั้งด้านการสร้างความร่วมมือผู้ป่วยให้กินยาต่อเนื่อง สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาจากการใช้ยาเช่นผลข้างเคียงจากยาๆอาทิ ท้องผูก ง่วงนอน การเพิ่มหรือลดความอยากอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและกินยาต่อเนื่องครบตามการรักษาของแพทย์ โดยทีมเภสัชกรของรพ.จิตเวชฯทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านวิชาการและการใช้ยาจิตเวชให้เภสัชกรรพ.ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปี จัดอบรมเภสัชกรจากรพ.ชุมชนแล้ว 49 แห่งรวม 4 รุ่น จำนวน 66 คน เพิ่มความครอบคลุมรพ.ชุมชนจากร้อยละ17 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 55 ในปี 2562 ผลการศึกษาด้านประสิทธิภาพพบว่าอัตราการส่งผู้ป่วยจิตเวชกลับมารับยาที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯเนื่องจากไม่มียาจิตเวชลดลงอย่างมาก โดยลดจากช่วงเดียวกันจากร้อยละ 8 เหลือเป็นศูนย์ในปี 2562 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่อยู่ในระดับน่าพอใจ แสดงถึงศักยภาพของเภสัชกรรพ.ชุมชนอย่างชัดเจน
สำหรับมาตรการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในเขตสุขภาพที่ 9 ในช่วงปี 2563 จะเพิ่มการอบรมเภสัชกรให้ครอบคลุมรพ.ชุมชนทุกแห่ง พร้อมทั้งจะเพิ่มข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยจิตเวชแต่ละคนใช้เข้าสู่ระบบการส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลในชุมชนต่อเนื่องแบบออนไลน์ ซึ่งขณะนี้มีเครือข่ายเชื่อมโยงรพ.ทุกระดับและเชื่อมต่อกับระบบการจ่ายยาอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์ของรพ.จิตเวชด้วย เพื่อเป็นข้อมูลให้เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เยี่ยมติดตามอาการผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งขณะนี้รพ.จิตเวชฯได้จัดทำคิวอาร์โค๊ดบนฉลากยาบอกชื่อ ฤทธิ์ของยาและอาการข้างเคียง ติดที่ซองยาของผู้ป่วย สามารถสแกนและรู้ข้อมูลยาแต่ละตัวได้ทันทีในเบื้องต้น จะทำให้เภสัชกรสามารถวางแผนการติดตามอาการผู้ป่วยแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้ผู้ป่วยและญาติที่ดูแลมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เภสัชกรหญิงจุฑามณีกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit