“ดร.อรรชกา” ปธ.บอร์ดซีอีเอ เผยดัชนีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยรุ่ง สร้างรายได้แตะ 1.4 ลลบ. รุกเปิดเวที CEA Forum 2019 กระตุกพลังคิดครีเอทีฟ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

15 Aug 2019
ซีอีเอ ปักธง 2563 ดัน Creative Caravan กระจายแนวคิดสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ , ขยายแพลตฟอร์มทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสนักสร้างสรรค์ , ดันอุตฯดนตรี ศิลปะ การแสดงไทยแพร่หลาย , หนุนยกระดับ "กรุงเทพฯ" ก้าวสู่ "เมืองสร้างสรรค์" สาขาการออกแบบของยูเนสโก
“ดร.อรรชกา” ปธ.บอร์ดซีอีเอ เผยดัชนีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยรุ่ง สร้างรายได้แตะ 1.4 ลลบ. รุกเปิดเวที CEA Forum 2019 กระตุกพลังคิดครีเอทีฟ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

ซีอีเอ พร้อมเปิดเวที CEA FORUM 2019 ครั้งแรก ! รับวาระ 1 ปี หนุนเชื่อมโยงนักคิดและนักสร้างสรรค์ชั้นนำ ขยายผลองค์ความรู้ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เผยดัชนีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยรุ่ง หลังพบสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.4 ล้านล้านบาท หนุนเร่งเครื่องศักยภาพการแข่งขันไทยใน 3 มิติ ได้แก่ บุคลากรสร้างสรรค์ ธุรกิจสร้างสรรค์ และพื้นที่สร้างสรรค์ ผ่านการผนึกกำลังหน่วยงานทุกภาคส่วน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุด เปิดพื้นที่จัดกิจกรรม "ซีอีเอ ฟอรั่ม 2019" ครั้งแรก ภายใต้แนวคิด "The Next Step to Creative Economy" รับวาระครบรอบ 1 ปี สะท้อนภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชิงนโยบาย การพัฒนาเมือง และการพัฒนาภาคธุรกิจ โดยนักสร้างสรรค์ชั้นนำทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมกระตุกพลังคิดสร้างสรรค์ สู่การสร้างความร่วมมือครั้งสำคัญในอนาคต ทั้งนี้ ซีอีเอ ได้จัดพิธีเปิดงาน "ซีอีเอ ฟอรั่ม 2019" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ถือเป็นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่หลายประเทศทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่ใช้แนวคิด ครีเอทีฟ โคเรีย (Creative Korea) ส่งเสริมการส่งออกเนื้อหา และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมขยายการเข้าถึงสินค้าและบริการ และ สหราชอาณาจักร ประเทศที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลักดันอุตสาหกรรมการออกแบบ จนขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของกลุ่มสหภาพยุโรป

"ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมล้ำค่าจำนวนมาก ทั้งอาคารสถาปัตยกรรมและแหล่งโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เทศกาลและประเพณี ทักษะช่างฝีมือและองค์ความรู้ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสู่สินค้า และบริการสร้างสรรค์ โดยพบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 9.1%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และในห้วงเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2553-2560 มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องถึง 5.61% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของจีดีพีภาพรวม ซึ่งอยู่ที่ 5.24%"

ขณะเดียวกัน สถานการณ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปัจจุบัน เริ่มส่งสัญญาณที่ดีในหลากหลายสาขา ทั้งภาพยนตร์ ละครแฟชั่น โฆษณา และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสู่ต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น หากส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเชื่อมโยงมาสู่ภาคการท่องเที่ยวภาคการเกษตร และภาคบริการอื่นๆ ย่อมนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน จึงนับเป็นความท้าท้ายของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ในฐานะกลไกส่งเสริมและสร้างความเชื่อมโยงหน่วยงานในทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรวิชาชีพ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative people) การส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) และ การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative place) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น หากแต่เป็นจุดเชื่อมรอยต่อ (Missing link) ที่แข็งแกร่งสำหรับภาคเอกชน ในการเป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า โดยล่าสุด ซีอีเอ ได้จัดกิจกรรม "ซีอีเอ ฟอรั่ม 2019" (CEA Forum 2019) ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด "The Next Step to Creative Economy" รับวาระครบรอบ 1 ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญของฉายภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ การพัฒนาเมือง และการพัฒนาภาคธุรกิจ ที่ได้รวบรวมนักคิด นักสร้างสรรค์ชั้นนำของวงการครีเอทีฟ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพลังคิดสร้างสรรค์เชิงบวก ผ่านการพูดคุยใน 3 เวทีหลัก ซึ่งมีไฮไลท์ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. เวทีถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์จากนักคิด (Creative Forum) ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย่านสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ ผ่านหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ "ทำอย่างไรอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเอสโตเนียถึงโตอย่างก้าวกระโดด?" และ "แผนพัฒนาศิลปะของสิงคโปร์: ความเป็นเลิศที่เป็นแรงบันดาลใจและเชื่อมโยงประชาชน"

2. เวทีแลกเปลี่ยนความรู้จากหลากหลายกลุ่ม (Creative Roundtable) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญ ที่มีบทบาทร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ "จุดกำเนิดงานออกแบบสมัยใหม่ของจีน: การปฏิรูปและความพร้อมของนโยบาย" "กระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับสร้างนวัตกรรม" และ "ไลน์: ยิ่งกว่านวัตกรรมสำหรับชีวิตประจำวัน"

3. เวทีถ่ายทอดประสบการณ์จากเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ (Creative Event) การนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยผู้ประกอบการ เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ลิโด้ คอนเนค (Lido Connect) ผู้พลิกโฉมวงการภาพยนตร์ สู่ ฮับเอนเตอร์เทนเมนต์ ใจกลางสยาม อัศจรรย์ คอลเลคทีฟ (ASSAJAN Collective) ผู้ผสานคุณค่าการรำไทย สู่ ท่วงท่าออกกำลังกายแบบร่วมสมัย และ สเปซทีเอชดอทซีโอ (spaceth.co) ผู้ที่ปรับมุมมองให้ วิทยาศาสตร์ กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าติดตาม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว นับเป็นโอกาสอันดีที่คนรุ่นใหม่จะได้รับฟังประสบการณ์และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศ พร้อมทั้งเก็บเกี่ยววิธีคิด อันเป็นประโยชน์ไปสู่การสร้างความร่วมมือครั้งสำคัญในอนาคต ทั้งในมิติของการสร้างธุรกิจ พัฒนาองค์กร และพัฒนาพื้นที่ของภาคส่วนต่างๆ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 20 สิงหาคม 2562 ณ ห้องฟังก์ชันรูม (Function Room) ชั้น 4 และห้องออดิทอเรียม (Auditorium) ชั้น M ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ซีอีเอ เตรียมเดินหน้ายกระดับนโยบายทั้ง 3 ด้าน อาทิ การจัดกิจกรรมครีเอทีฟ คาราวาน (Creative Caravan) ที่ขยายเครือข่ายจาก มินิ ทีซีดีซี (miniTCDC) เพื่อกระจายแนวคิดสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ การเพิ่มช่องทางการตลาดสำหรับธุรกิจสร้างสรรค์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดได้โดยตรง โดยเพิ่มแพลตฟอร์มทางออนไลน์ที่เป็นที่นิยม เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตมากขึ้น อาทิ งานออกแบบกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ สินค้าชุมชน ที่ไอคอนสยาม (ICON SIAM) นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านดนตรี ศิลปะ และการแสดงของไทยให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น รวมถึงการผลักดัน "กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการออกแบบในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก" ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการยูเนสโก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ซีอีเอ ได้จัดพิธีเปิดงาน "ซีอีเอ ฟอรั่ม 2019" (CEA Forum 2019) โดยมี ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ติดตามรายละเอียดกิจกรรม CEA FORUM 2019 เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/CreativeEconomyAgency และ www.cea.or.th/news-cea-forum-2019 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02 105 7441

“ดร.อรรชกา” ปธ.บอร์ดซีอีเอ เผยดัชนีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยรุ่ง สร้างรายได้แตะ 1.4 ลลบ. รุกเปิดเวที CEA Forum 2019 กระตุกพลังคิดครีเอทีฟ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ “ดร.อรรชกา” ปธ.บอร์ดซีอีเอ เผยดัชนีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยรุ่ง สร้างรายได้แตะ 1.4 ลลบ. รุกเปิดเวที CEA Forum 2019 กระตุกพลังคิดครีเอทีฟ ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ