นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เป็นรพ.เฉพาะทางให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างหรือเขตนครชัยบุรินทร์ คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ที่มีอาการป่วยทางจิตในขั้นรุนแรง ยุ่งยากและซับซ้อน ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวเฉลี่ย 300 คนต่อวันโดยใช้ระบบการดูแลแบบผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมีทีมสหวิชาชีพหลายสาขาร่วมให้การดูแลฟื้นฟูทักษะทางด้านจิตใจและสังคม จนหายหรือทุเลา มีความปลอดภัยและพึงพอใจ สามารถกลับไปดำรงชีวิตอยู่ที่บ้านได้อย่างปกติสุข ใช้เวลาฟื้นฟูโดยเฉลี่ย 32 วันต่อคน ซึ่งยาวนานกว่าผู้ป่วยฝ่ายกายระหว่างที่อยู่รพ.มีนโยบายให้ทีมโภชนาการจัดเมนูอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ สอดคล้องกับโรค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การรักษาของแพทย์มีประสิทธิภาพ ช่วยลดอาการข้างเคียงจากยารักษาทางจิตเวช เช่น ปัญหาน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังให้แก่ผู้ป่วยได้ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงโดยจะให้ความรู้แก่ญาติควบคู่ไปด้วยเพื่อให้สามารถดูแลด้านอาหารการกินของผู้ป่วยอย่างถูกต้องเมื่อออกจากรพ.แล้ว
ทางด้านนางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า กลุ่มงานโภชนาการ ได้จัดรายการอาหารเพื่อให้บริการผู้ป่วยจิตเวช ขณะนี้มีทั้งหมด 21 เมนู แต่ละเมนูจะสอดคล้องกับความต้องการภาวะโรคของผู้ป่วย และแผนการรักษาของแพทย์ โดยล่าสุดนี้ได้เพิ่มเมนูอาหารคลีน หรือคลีนฟู้ด (Clean food) ให้ผู้ป่วยจิตเวชทุกคนรับประทานในวันอังคารทุกสัปดาห์ เนื่องจากอาหารคลีน เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้วัตถุดิบที่สด สะอาดเน้นความเป็นธรรมชาติของอาหารเป็นหลักและไม่ผ่านขั้นตอนการปรุงแต่งหรือแปรรูป ปลอดสารพิษ ร่างกายจึงได้รับประโยชน์ทั้งกายและใจจากอาหารคลีนทั้ง 5 หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน วิตามิน เกลือแร่ สูงกว่าอาหารที่แปรรูปซึ่งมักจะสูญเสียสารอาหารเช่นวิตามิน แร่ธาตุต่างๆในระหว่างกระบวนการผลิต
" อาหารคลีน ถือเป็นอาหารต้านเศร้าชั้นเยี่ยม เนื่องจากการปรุงจะเน้นลดความหวาน เนื่องจากหากร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดคือ6ช้อนชาต่อวัน อาจมีผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้ และยังลดมัน ลดเค็ม ลดการใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ โดยจะเน้นไปที่กลุ่มผักและผลไม้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกคือ 400กรัมต่อวัน นอกจากจะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้นแล้ว ประการสำคัญสารสีตามธรรมชาติของผักและผลไม้ต่างๆ ยังมีผลช่วยบำบัดภาวะเจ็บป่วยทางด้านจิตเวชได้ด้วย เช่นกลุ่มผักผลไม้สีแดงเช่นแตงโม องุ่นแดง มะเขือเทศ จะให้สารสีไลโคปีน (Lycopene) และเบต้าไซซิน (Betacycin) มีส่วนช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม กลุ่มผักผลไม้ที่มีสีม่วงเช่นมะเขือม่วง กะหล่ำปลีสีม่วง จะให้สารสีแอนโทไซยานิน (Anthocyanin ) มีส่วนช่วยให้ผ่อนคลาย อารมณ์ดี เป็นต้น" นางจิรัฐิติกาลกล่าว
นางจิรัฐิติกาลกล่าวต่อไปว่าหัวใจสำคัญของการจัดเมนูอาหารคลีนให้ผู้ป่วยของรพ.จิตเวชฯคือการใช้ผักสดปลอดสารพิษจากชุมชนในจ.นครราชสีมา การจัดเมนูจะคำนึงถึงวิถีชีวิตและรายโรคของผู้ป่วย เป็นเมนูที่ทำง่ายๆลดการใช้เครื่องปรุงต่างๆ และที่สำคัญในเมนูประเภทผัด เช่นผัดผัก รพ.จิตเวชฯได้พัฒนาสูตร โดยใช้น้ำซุปแทนการใช้น้ำมันซึ่งให้รสชาติอร่อยไม่ต่างกัน เพื่อแนะนำให้ญาติผู้ป่วยนำกลับไปทำเองที่บ้านได้ด้วยเพราะต้นทุนอาหารคลีนนี้ไม่ได้แพงเหมือนที่เข้าใจกัน ตัวอย่างเมนูอาหารคลีน เช่นเมนูน้ำพริกผักสด/ผักต้ม แกงจืด ผัดผักต่างๆเป็นต้น ทั้งนี้กรณีประเภทอาหารธรรมดา ตามมาตรฐานผู้ป่วยจิตเวชชายจะต้องได้รับพลังงาน 1,800-2,400 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ผู้ป่วยจิตเวชหญิงจะต้องได้รับ 1,600 -2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หากเป็นประเภทอาหารอ่อนเช่นข้าวต้ม โจ๊ก ให้พลังงาน1,400-1,600 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit