ปัจจุบันสัดส่วนประชากรสตรีในอาเซียนมีสูงกว่า 50% และมีแนวโน้มเข้าสู่ภาคธุรกิจและสังคมแรงงานมากขึ้น หากแต่การพัฒนาศักยภาพของสตรีในแต่ละระดับเหล่านี้ ยังไม่ได้ออกแบบให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างเหมาะสม ดังนั้น ในวาระที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียนปี 2562 เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (ASEAN Women Entrepreneurs Network: AWEN) จึงได้ริเริ่มให้มีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 (AWEN Women CEOs Summit) ในหัวข้อ "การกำหนดทิศทาง ธุรกิจสตรี ก้าวล้ำ สหัสวรรษ 4.0" (Globalization 4.0 and Beyond: Shaping the Future for Women Enterprises) ขึ้นเป็นครั้งแรก
การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับผู้นำจากหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน รวมทั้งด้านสังคม ได้ร่วมกันออกแบบอนาคตให้กับสตรีภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยการประชุมนี้ได้เชิญผู้นำระดับโลก ผู้สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงให้กับสตรีทั่วโลก รวมถึงผู้นำด้านธุรกิจ (CEO) จากประเทศในกลุ่มอาเซียนมาเป็นผู้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดให้แก่ผู้นำในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพภาวะผู้นำให้กับสตรีภาคธุรกิจ พร้อมสร้างเครือข่ายขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน สากล วาระปี 2561-2563 เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหารฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพันธมิตรอื่น ๆ โดยมีเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ประเทศไทย (AWEN Thailand) เป็นผู้จัดงานในฐานะประธาน AWEN นับเป็นการจัดประชุมผู้นำสตรีด้านธุรกิจครั้งแรกในอาเซียน ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรธุรกิจและองค์กรนานาชาติชั้นนำเข้าร่วมกว่า 350 คน
การประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 ในครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 โดยมีการจัดเสวนาและการบรรยายแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นที่ท้าทายตลอดระยะเวลา 2 วันในการประชุม ซึ่งครอบคลุมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การเสริมสร้างภาวะผู้นำเชิงบวกของสตรีนักธุรกิจให้สามารถนำธุรกิจข้ามช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่สหัสวรรษ 4.0 และเป็นส่วนหนึ่งในพลวัตรของเศรษฐกิจโลก
การจัดประชุมสุดยอดผู้นำสตรีนักบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน 2019 เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ของเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและดึงศักยภาพของผู้บริหารสตรีในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วอาเซียน ให้ออกมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน ผ่านการผสานเครือข่าย การให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น นำไปสู่การยกระดับสถานภาพสตรีในทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในสังคมไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนไปพร้อมกัน โดยเป็นการประชุมที่จัดขึ้นต่อจากการจัดการประชุม ASEAN Women's Business Conference and Award Ceremony 2019 ซึ่งมุ่งเน้นการหารือถึงแผนการพัฒนาสตรีผู้ประกอบการร่วมกันของภาคองค์กรธุรกิจ และSMEs เมื่อวันที่ 20-22 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา
คุณหญิงณัฐิกา กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การส่งเสริมสถานภาพสตรีอาเซียนมีความต่อเนื่องและเข้มแข็งยิ่งขึ้น โอกาสนี้เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนจึงได้มีปฏิญญาร่วมกัน ภายใต้ "AWEN DECLARATION BANGKOK 2019" ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่ การยกระดับภาวะผู้นำของสตรี การปรับทักษะแรงงานสตรี การสนับสนุนความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน การเข้าถึงตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการสตรีอาเซียน การส่งเสริมแนวทางพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นแกนหลักและเป็นแนวการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนเอง โดยประเทศไทยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพลังเศรษฐกิจโดยสตรีให้กับภูมิภาคอาเซียน
"ภายใต้ปฏิญญาร่วมกันของ AWEN DECLARATION BANGKOK 2019 เราจะสนับสนุนและส่งเสริมการฝึกอบรมการให้คำปรึกษาและการพัฒนา รวมถึงการยกระดับการฝึกทักษะและทักษะใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้สตรีอาเซียนก้าวสู่การเป็นผู้นำในองค์กรที่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงได้รวดเร็วขึ้น เช่น ทักษะด้านการเงิน การศึกษา การตลาดการค้า เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนการริเริ่มโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ที่จะส่งเสริมสตรีในฐานะผู้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีภาวะผู้นำที่พร้อมจะเป็นผู้นำในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และเวทีระหว่างประเทศ ร่วมด้วยการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้จากผู้หญิง ที่ประสบความสำเร็จในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่นให้บรรลุการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยประเทศไทยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพลังเศรษฐกิจสตรีให้กับภูมิภาคอาเซียน และการจัดประชุมนี้ถือเป็นงานสุดท้ายก่อนที่จะหมดวาระของการเป็นประธาน AWEN ในปีนี้ การประชุมนี้จึงเป็นทั้งการริเริ่มและเป็นการส่งมอบต่องานที่สำคัญให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป" คุณหญิงณัฐิกา กล่าวในที่สุด
สามารถเข้าศึกษาข้อมูลงาน AWEN Women CEOs Summit ได้ที่ http://womenceosummit2019.awenasean.org
รายละเอียดการประชุมและภาพประกอบ
ไฮไลท์ของการประชุมในแต่ละวันจากเวทีเสวนาในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 มีหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ประกอบด้วย การออกแบบอนาคตให้กับภาคธุรกิจที่สอดรับกับความก้าวหน้าสหัสวรรษ 4.0 การออกแบบอนาคตให้กับองค์กรด้วยสร้างการเปลี่ยนผ่านองค์กรเพื่อก้าวสู่สหัสวรรษ 4.0 และคงแก่นของวัฒนธรรมองค์กร การแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม ในการออกแบบอนาคตร่วมกัน โดยมีวิทยากรรับเชิญที่มีชื่อเสียงในระดับโลก อาทิ นางสาวโรสซานา อา ฟาฆาโด พาร์ทเนอร์และหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการตลาด บริษัท SGV&Co. บริษัทที่ปรึกษา ชั้นนำจากประเทศฟิลิปปินส์ นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ นางสาวอามานดา โอลด์ริดจ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลประจำภูมิภาค จาก Linfox International Group บรรษัทให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีสาขาทั่วโลก นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ส่วนการประชุมในวันที่สอง เริ่มด้วยหัวข้อการออกแบบนักธุรกิจสตรีภูมิภาคอาเซียน โดย CEOs ซึ่งผู้แทนจาก 10 ประเทศในอาเซียนเป็นวิทยากรที่จะมาเสนอมุมมองต่อการมุ่งสู่สหัสวรรษ 4.0 ต่อด้วยการเสวนาหัวข้อ การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยฟินเทค จาก CEOs กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำของโลก และต่อด้วยเสวนาการออกแบบนโยบายและธุรกิจสตรีในยุคสหัสวรรษ 4.0 จากองค์กรมีส่วนสำคัญในการออกแบบนโยบาย อาทิ Asian Development Bank Institute, International Labor Organization ร่วมกับภาคธุรกิจ และการประชุมครั้งนี้ ยังมีห้องบรรยายย่อยจาก UN Women กับหลักการพัฒนาพลังสตรีในองค์กร (Women Empowerment Principles) ที่บรรษัทชั้นนำข้ามชาติหลายองค์กรได้นำมาพัฒนาให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนให้กับองค์กร นอกจากนี้ยังมีงานกาลาดินเนอร์ ที่ได้เชิญแขกพิเศษมาเป็นองค์ปาฐก ที่จะมาจุดประกายความคิดที่จะก้าวไปสู่โลกสหัสวรรษ 4.0
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit